ท่อทองแดงสำหรับงานติดตั้งระบบปรับอากาศ
บทความนี้เรามาทำความรู้จักกับท่อทองแดงที่ใช้ในการเดินท่อสำหรับระบบปรับอากาศกันครับ เราสามารถจำแนกชนิดของท่อทองแดงออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดท่อตรงและชนิดท่อม้วน โดยที่แต่ละชนิดจะมีลักษณะที่แตกต่างกันและมีความเหมาะสมในการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนี้ครับ
1. ท่อทองแดงชนิดท่อตรง
ท่อตรงที่นิยมนำมาใช้ในประเทศไทยคือ ท่อ Hard Drawn ซึ่งหมายถึงท่อตรงแบบแข็ง คำว่า Drawn หมายถึงกระบวนการผลิตท่อทองแดงที่จะใช้วิธีการดึงท่อผ่านอุปกรณ์ลดขนาดท่อ (Reducing Die) ซึ่งจะทำให้ท่อมีความแข็งมากขึ้น และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตามที่ต้องการ
ท่อทองแดงชนิดท่อตรง Hard Drawn นั้น ถ้าอ้างอิงตามมาตรฐาน ASTM B88 จะมีขนาดความหนา 3 ขนาด ได้แก่ ชนิด Type K, Type L, Type M โดยที่ Type K จะมีความหนามากที่สุด Type L มีความหนารองลงมา และ Type M มีความหนาน้อยที่สุด
ท่อทองแดงชนิดท่อตรง Hard Drawn นั้นนิยมใช้ในการเดินท่อสำหรับระบบปรับอากาศ VRF (หรือ VRV), ระบบทำความเย็น และระบบปรับอากาศแบบ Split Type ที่ติดตั้งในโครงการที่ต้องการให้มีการเดินท่อที่ตรง สวยงาม ไม่คดงอ
ในอดีตที่เราใช้สารทำความเย็น R22 กัน เราสามารถเลือกใช้ชนิด Type M ได้ แต่ปัจจุบันเราใช้สารทำความเย็น R410a หรือ R32 แทนซึ่งสารทำความเย็น 2 ชนิดนี้มความดันใช้งานสูงกว่า R22 มาก จึงแนะนำให้เลือกใช้ชนิด Type L เป็นหลัก เนื่องจากมีความหนามากกว่าจึงทนแรงดันได้ดีกว่า
ความยาวของท่อทองแดงแบบท่อตรงนิยมผลิตมาที่ 6.0 เมตร หรือบางครั้งผลิตมาที่ความยาว 5.8 เมตรเพื่อให้สามารถบรรจุมาในตู้ Container ขนาด 20 ฟุตได้ ซึ่ง 20 ฟุต นั้นก็คือความยาว 6.0 เมตรนั่นเอง ถ้าท่อมีความยาว 6.0 เมตร จะบรรจุไม่ได้เพราะพอดีเกินไป
บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) จำหน่ายท่อทองแดงชนิดท่อตรงยี่ห้อ Koppar ซึ่งผลิตตามมาตรฐาน ASTM B88 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกตั้งแต่ 3/8” ถึง 2-5/8”
2. ท่อทองแดงชนิดท่อม้วน
ท่อม้วนนั้น มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Soft Copper Tube หรือ Soft Copper Coil หรือ Pancake Coil เรียกได้หลายแบบ
ท่อชนิดนี้ในการผลิตจะนำท่อตรง Hard Drawn มาผ่านกระบวนการให้ความร้อนทันทีหลังจากผ่านการดึงผ่าน Reducing Die ทำให้ท่อมีความอ่อนตัว แล้วจึงนำไปขดเป็น Coil
ท่อชนิดนี้นิยมใช้ในการติดตั้งกับระบบปรับอากาศแบบ Split type ที่ยอมให้มีความคดงอได้บ้าง ซึ่งข้อดีของการใช้ท่อชนิดนี้เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ท่อตรงนั้นมีอยู่หลายประการ อาทิเช่น ท่อมีความยาว 15 เมตร ช่างสามารถคลี่ออกมาและเดินท่อไปได้ไกลกว่าโดยที่ไม่ต้องมีการเชื่อม การหักเลี้ยว 90 องศา หรือ 45 องศา สามารถทำได้ด้วยการดัด ไม่จำเป็นต้องใช้ Fitting การขนย้ายและการขนส่งทำได้สะดวกกว่าเนื่องจากเป็นขดจึงมีขนาดเล็ก แต่ข้อจำกัดคือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางให้เลือกเฉพาะขนาดเล็กๆ ในบ้านเรานิยมนำเข้ามาจำหน่ายกันที่ขนาดไม่เกิน 3/4” ท่อชนิดนี้จะผลิตตามมาตรฐาน ASTM B280
สำหรับระบบปรับอากาศ VRF (หรือ VRV) นั้นนิยมใช้ท่อตรงเป็นหลัก แต่จะเปลี่ยนเป็นท่อม้วนเมื่อถึงจุดที่จะต่อเข้าเครื่องเป่าลมเย็น (Fancoil Unit) ในระยะสั้นๆประมาณ 50 ซม. เนื่องจากการต่อเข้าเครื่อง Fancoil Unit นั้นมักเป็นแบบ Flare ซึ่งท่อม้วนสามารถบาน Flare ได้ง่ายกว่าท่อตรง และนอกจากนี้การใช้ท่อม้วนตรงจุดนี้ยังมีประโยชน์ในแง่ที่ว่าท่อม้วนสามารถดัดได้ จึงสามารถดัดให้ทิศทางตรงไปสู่ข้อต่อของ Fancoil Unit ได้ และอีกประการหนึ่งเมื่อ Fancoil Unit เดินเครื่อง จะมีการสั่นสะเทือนเล็กน้อย ท่อม้วนจะสามารถยืดหยุ่นให้ตัวได้ จึงช่วยดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้
บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) จำหน่ายท่อทองแดงชนิดท่อม้วนยี่ห้อ Koppar ซึ่งผลิตตามมาตรฐาน ASTM B280 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกตั้งแต่ 1/4” ถึง 3/4”
ติดตาม Harn Engineering Solutions
เรามีบทความดีๆ และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์