สถิติจากสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ (National Fire Protection Association: NFPA) พบว่าการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุเพลิงไหม้ในอาคาร 38% ไม่มีระบบ Smoke Detector และ 21% พบว่าอาคารที่เกิดเพลิงไหม้แม้ว่าจะติดตั้งระบบ Smoke Detector แต่เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ระบบไม่ทำงาน
ความสำคัญของ Smoke Detector คือการตรวจจับอนุภาคควันไฟเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ในขณะที่เปลวไฟเริ่มลุกไหม้บนเชื้อเพลิง ควันไฟจะเป็นสิ่งแรกที่จะลอยขึ้นสู่ที่สูงก่อน ซึ่งจะไปกระทบกับเครื่องตรวจจับควันไฟที่ถูกติดตั้งอยู่บนเพดาน
ทำให้การส่งสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Signaling Equipment) เริ่มทำงานเพื่อแจ้งเตือนให้คนที่อยู่ภายในอาคารรับรู้เหตุการณ์ได้ทันที ส่งผลให้การอพยพออกจากอาคาร หรือการควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลามเป็นไปอย่างรวดเร็วและลดความสูญเสียลงได้
หลังจากที่ท่านได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควันไฟหรือ Smoke Detector ในอาคารของท่านแล้ว บทความนี้จะกล่าวถึงวิธีการตรวจสอบความพร้อมในการทำงานของอุปกรณ์ตรวจจับควันไฟ เพื่อให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา และส่วนประกอบใดบ้างที่ต้องทำการทดสอบการทำงาน เพื่อตรวจดูว่าถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่แล้วหรือไม่
“ข้อควรรู้”
ระหว่าง Smoke Alarm และ Smoke Detector
Smoke Alarm เป็นอุปกรณ์ตรวจจับควันและมีตัวเปล่งสัญญาณเตือนภัยได้ในตัว เหมาะกับการติดตั้งในบ้านหรืออาคารพาณิชย์ที่มีความสูงไม่เกิน 3 ชั้น
Smoke Detector เป็นอุปกรณ์ตรวจจับควันที่ทำงานร่วมกันกับระบบ Alarm System หรือสัญญาณแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ เหมาะกับการติดตั้งในอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป
ตรวจสอบอุปกรณ์ Smoke Detector ตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์
หลังจากการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควันไปแล้วทุก 1-2 ปี ควรมีการสำรวจความพร้อมของอุปกรณ์ว่ายังสามารถใช้งานได้หรือไม่ เนื่องจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อม เช่น ฝุ่น ลม ความร้อน ความชื้น มีผลทำให้อุปกรณ์ตรวจจับควันเกิดความเสียหายหรือมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
- ชิ้นส่วนสำคัญของอุปกรณ์ที่ติดตั้งยังอยู่ครบ เช่น หลอดไฟแสดงผล อุปกรณ์ต่อสัญญาณกับวงจรสัญญาณ
- ตรวจสอบว่ามีฝุ่นสะสมอยู่ภายในตัวตรวจจับหรือไม่ เนื่องจากการสะสมของฝุ่นจะส่งผลต่อการตรวจจับควันไฟให้ไม่สามารถทำงานได้ดี
- ตาข่ายป้องกันแมลงที่ติดตั้งบนกล่องครอบอุปกรณ์อยู่ในสภาพที่ยังใช้งานได้ดี และได้รับการทำความสะอาด
- ชิ้นส่วนโลหะของอุปกรณ์ไม่มีร่องรอยการผุกร่อน
- อุปกรณ์ยังคงติดตั้งอยู่อย่างมั่นคง น็อตที่ยึดอุปกรณ์ไม่หลุดหลวมและอยู่ในสภาพการใช้งานที่ปกติ
ทดสอบการทำงานของระบบ Smoke Detector
การทดสอบการทำงานของอุปกรณ์
อุปกรณ์ตรวจจับควันต้องทดสอบการทำงานภายใต้สภาวะการใช้งานที่ได้ออกแบบเอาไว้ ทั้งค่าความไวของการตรวจจับและการป้อนแรงดันไฟฟ้า สามารถทำได้โดยการปล่อยควันเข้าอุปกรณ์จับควัน เช่น ควันจากไส้ตะเกียง หรือเชือก ที่เมื่อติดไฟแล้วจะทำให้เกิดปริมาณควันได้เกินระดับที่กำหนดเอาไว้ หลังจากที่อนุภาคควันเข้าไปในอุปกรณ์แล้วระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้จะต้องทำงานไม่น้อยกว่า 4 นาที
นอกจากการตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์แล้ว ยังต้องตรวจสอบระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าจากแหล่งสำรองให้กับอุปกรณ์ด้วย โดยทำการตัดการจ่ายไฟหลักเพื่อดูว่าแหล่งจ่ายไฟสำรองสามารถส่งกระแสไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ตรวจจับควันหรือไม่
การประเมินผลความสามารถของแบตเตอรี่
ความสามารถของแบตเตอรี่ต้องมีกำลังการจ่ายไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ส่งสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ โดยมีระยะเวลานานอย่างน้อย 1 ปี แบตเตอรี่ได้รับการตรวจคุมทางไฟฟ้าดังนี้
- เมื่อมีชิ้นส่วนสายไฟฟ้าเชื่อมต่อเกิดการหลุดหรือหลวม ที่ส่งผลต่อการลัดวงจรของระบบต้องแสดงสัญญาณขัดข้อง ซึ่งการแสดงสัญญาณขัดข้องของอุปกรณ์ต้องแสดงไม่น้อยกว่า 1 ครั้งต่อนาทีและต่อเนื่องอย่างน้อย 7 วัน โดยมีเสียงสัญญาณแตกต่างจากเสียงสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้
- ทำการทดสอบความผิดปกติของวงจรไฟฟ้าทีละอย่าง และแต่ละครั้งให้ทำการบันทึกผลไว้เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องก่อนทำการทดสอบความผิดปกติอื่น
- กรณีที่ใช้แบตเตอรี่เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลัก หากกำลังไฟของแบตเตอรี่ไม่สามารถส่งให้สัญญาณแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ได้ถึง 4 นาที อุปกรณ์ต้องส่งสัญญาณการขัดข้อง
วิธีทดสอบการตรวจจับควัน
การทดสอบความไวในการตรวจจับควันด้วยอุปกรณ์ทดสอบ ในการตรวจค่าการตรวจจับสูงสุดและต่ำสุดตามความสามารถของอุปกรณ์ภายใต้ความเร็วลม รวมถึงทิศทางของควันไฟตามค่าที่กำหนด เพื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ตรวจจับควันหลังจากการติดตั้งไปแล้ว โดยมีวิธีการดังนี้
- ทำการทดสอบภายใต้อุณหภูมิระหว่าง 20-26 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ที่ 30-70% และความดันอากาศ 93.3 กิโลปาสคาล
- การทดสอบด้วยละอองควันที่ใช้ในการทดสอบ ต้องทำการป้อนเข้ากล่องตรวจจับควันแบบต่อเนื่องจนกว่าอุปกรณ์จะแสดงสถานะตรวจจับได้หรือมีการแจ้งเหตุเกิดขึ้น โดยการทดสอบแต่ละครั้งต้องทำการระบายอากาศให้กล่องจนกว่าอุปกรณ์จะกลับไปแสดงสถานะปกติ และมีการไหลของอากาศอยู่ในระดับเสถียรไม่น้อยกว่า 30 วินาทีก่อนทำการทดสอบอีกครั้ง
- การทดสอบในห้องทดสอบ อุปกรณ์ตรวจจับควันต้องปรับค่าไว้ให้ต่ำที่สุด หลังจากที่จุดเชื้อเพลิงแล้วให้ทำการจับเวลา เมื่อเครื่องเริ่มส่งสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ต้องต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 วินาที ซึ่งการประเมินผลการทดสอบคือ อุปกรณ์ตรวจจับควันแต่ละตัวต้องทำงานในช่วงความไวตามที่กำหนด
สรุป
หลังจากการตรวจสอบสภาพการใช้งานและการทดสอบการทำงานของระบบตรวจจับควันแล้ว พบว่าอุปกรณ์มีการชำรุดหรือไม่ผ่านเกณฑ์การทดสอบที่กล่าวถึงข้างต้น อุปกรณ์ Smoke Detector ควรได้รับการเปลี่ยนใหม่ เพื่อติดตั้งทดแทนอุปกรณ์เดิมที่ชำรุดหรือเสื่อมสภาพ
เนื่องจากการใช้งานอุปกรณ์ Smoke Detector ที่เสื่อมสภาพไปแล้ว อาจมีการทำงานที่ผิดพลาดได้ (False Alarm) ส่งผลให้ระบบแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ทำงานได้อย่างผิดปกติ และเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้อุปกรณ์ตรวจจับควันก็อาจจะไม่ทำงานจนทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
สำหรับท่านใดที่ยังมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบ Smoke Detector หรือต้องการวางแผนติดตั้งระบบดับเพลิงในอาคารของคุณ ติดต่อเราได้ที่นี่ เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบดับเพลิงที่คอยให้คำปรึกษากับคุณอย่างเต็มที่
ติดตาม Harn Engineering Solutions
เรามีบทความดีๆ และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์