โครงการ “สำนักพิมพ์สามมิติ หาญ-จุฬาฯ”

8 มกราคม 2019

กิจกรรม “สำนักพิมพ์สามมิติ หาญ-จุฬาฯ”

เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องแต่ต้นทุนในการสร้างชิ้นงานในปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าคณาจารย์และนิสิตจะเข้าถึงได้โดยง่าย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติและขยายองค์ความรู้ให้แพร่หลายในประเทศไทย   

บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เห็นข้อจำกัดนี้จึงริเริ่มจัดทำกิจกรรม “สำนักพิมพ์สามมิติ หาญ-จุฬาฯ” เป็นหนึ่งในโครงการกิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคม โดยร่วมสนับสนุนและเปิดโอกาสให้คณาจารย์และนิสิตในคณะต่างๆเข้าถึงเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติได้ในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนในท้องตลาดอย่างมีนัยสำคัญ  จากการทดลองให้บริการในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเวลาเกือบ 3 ปี พบว่ากิจกรรมนี้กระตุ้นให้เกิดการออกแบบและขึ้นรูป ต้นแบบ ชิ้นส่วนเครื่องจักร กล่องหุ้มอุปกรณ์ทางไฟฟ้าคอมพิวเตอร์ งานออกแบบอุตสาหกรรม ในการเรียนการสอนและงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวนกว่า1,500 ชิ้นต่อปีและกำลังได้รับการตอบรับมากขึ้น นับได้ว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาชุมชนและสังคมในด้านการศึกษาให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

ปัจจุบัน บริษัทฯ มุ่งเน้นการพัฒนาการใช้งานเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติสำหรับการแพทย์และวิศวกรรมขั้นสูง และยังได้จัดซื้อเครื่องพิมพ์เทคโนโลยีการฉายดีแอลพี (Digital Light Projection) เข้าไว้ในสำนักพิมพ์ที่จุฬาฯ และที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ  เพื่อผลิตชิ้นงานที่มีผิวเรียบและความละเอียดแม่นยำสูงเพื่อพัฒนาแบบจำลองหัวใจ กระดูก และกะโหลกศีรษะ ตลอดจนชิ้นงานทางด้านวิศวกรรมที่ต้องการความละเอียดแม่นยำ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเปิดตัวโครงการ “สำนักพิมพ์สามมิติเพื่อจุฬาฯ” อย่างเป็นทางการ บริษัทฯ หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับวงการศึกษาและประเทศไทยได้ในระยะยาวต่อไป