HARN จะพาทำความรู้จัก คอยล์เย็น แบบ All Fresh Air Unit ของระบบปรับอากาศ VRV/VRF กันครับ
คอยล์เย็น แบบ All Fresh Air Unit คืออะไร
Fresh Air Unit หรือ FAU บางครั้งถูกเรียกว่า Outdoor Air Unit ซึ่งเขียนย่อๆ ว่า OAU ทั้งสองชื่อมีความหมายเหมือนกันสามารถเรียกได้ทั้งสองแบบ คำว่า Fresh Air หรือ Outdoor Air หมายถึงอากาศที่อยู่ภายนอกอาคาร ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะทำให้ผู้คนรู้สึกสดชื่นได้มากกว่าอากาศภายในอาคาร จะสังเกตได้ว่า เวลาเราอยู่ภายในอาคารนานๆ เรามักจะรู้สึกอุดอู้มึนงง แต่พอออกไปเดินเล่นข้างนอกเราจะรู้สึกสดชื่นขึ้นมาทันที (ถ้าเป็นเมืองไทยคงต้องไปเดินตอนประมาณเย็นๆ ค่ำๆ หน่อยนะครับ เพราะถ้าไปเดินตอนแดดเปรี้ยงๆ ท่านอาจจะรู้สึกไม่สดชื่นมากกว่าเดิมอีก) นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมฝรั่งถึงเรียก Outdoor Air ว่า Fresh Air ส่วนคำว่า Unit หมายถึงเครื่อง
ฉะนั้นคำว่า Fresh Air Unit หรือ Outdoor Air Unit จึงหมายถึงเครื่องที่ทำหน้าที่รับอากาศจากภายนอกอาคารมาทำการลดอุณหภูมิ ความชื้น และฝุ่นละอองลง ก่อนที่จะจ่ายเข้าไปในภายในอาคารเพื่อทำให้ผู้คนรู้สึกสดชื่น ลักษณะของตัวเครื่องจะเหมือนกับ FCU แบบต่อท่อลมเลยแต่คุณสมบัติจะไม่เหมือนกัน
ถ้าสังเกตชื่อแบบเต็มๆ ของเครื่องนี้จะมีคำว่า All นำหน้าคำว่า Fresh Air Unit ด้วย กลายเป็น All Fresh Air Unit ซึ่งบางครั้งเราจะเรียกว่า 100% Fresh Air Unit ก็ได้
ทำไมต้องมีคำว่า All หรือคำว่า 100%
การจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ต้องย้อนไปพูดถึงระบบปรับอากาศแบบทั่วไปๆ ก่อน ระบบปรับอากาศแบบทั่วๆ ไปที่เราใช้กันนั้นจะใช้ Indoor Unit แบบ Fancoil Unit ซึ่งทำหน้าที่หมุนเวียน (Circulate) อากาศภายในห้องเป็นหลัก อย่างไรก็ดีเราสามารถต่อท่อลมเพื่อรับอากาศจากภายนอกอาคารเข้ามาผสมที่ด้านดูดของตัว FCU ได้เล็กน้อยเพื่อให้มีอ๊อกซิเจนเข้ามาเติมให้ผู้คนในอาคารรู้สึกสดชื่น โดยคำว่าเล็กน้อยนั้นก็คือไม่เกิน 20% ฉะนั้นจึงกลายเป็นว่า FCU ตัวนี้จะรับลมกลับจากห้อง 80% ผสมรวมกับ Fresh Air 20% กลายเป็น 100% มาทำความเย็นผ่านแผงคอยล์เย็นแล้วจึงจ่ายลมเย็นออกไป 100% ห้องนี้จะมีสภาวะความดันเป็นบวกเพราะมี Fresh Air จากภายนอกอัดเข้ามาในห้อง อากาศในห้องนี้จะเกินมา 20% อากาศในห้องจึงพยายามหาทางออกตามรูรั่วต่างๆของห้องเอง เช่น ขอบประตูหรือขอบหน้าต่าง เราเรียกการติดตั้ง FCU แบบนี้ว่าเป็นแบบรับ Return Air 80% และรับ Fresh Air 20% ถึงตอนนี้ท่านพอจะเดาออกแล้วใช่ไหมว่าการเรียก Fresh Air Unit ว่า All Fresh Air Unit หรือ 100% Fresh Air Unit นั้นมีเหตุผลอย่างไร
เหตุผลก็คือเราต้องการย้ำว่านี่คือ เครื่องที่รับอากาศจากภายนอกทั้งหมด 100% ไม่ใช่แค่บางส่วนแบบ Fancoil Unit นั่นเอง
หลักการเลือก FCU เพื่อต่อ Fresh Air เข้าไปที่ด้านดูดของ FCU
ปกติแล้วอากาศภายนอกอาคารจะมีความร้อนและความชื้นสูงเพราะประเทศไทยเป็นประเทศร้อนชื้น การนำ Fresh Air เข้ามาต่อที่ด้านดูดของ FCU โดยตรงเช่นนี้ จะเป็นการเพิ่มภาระให้ FCU อย่างมากและ FCU อาจจะไม่สามารถรักษาอุณหภูมิห้องได้ตามเป้าหมายเหมือนเดิม ถ้าเราไม่ได้เผื่อขนาดของ FCU ไว้เลย ตามหลักการเลือก FCU ที่เจตนาจะต่อ Fresh Air เข้าไปที่ด้านดูดของ FCU จะต้องเลือกเครื่องให้มีขนาด Btu/h สูงขึ้นเพื่อรองรับภาระความร้อนและภาระความชื้นในส่วนนี้ และจะต้องนำ Fresh Air เข้ามาไม่เกิน 20% เพราะ FCU ไม่มีความสามารถมากพอที่จะลดความชื้นในมวลอากาศของ Fresh Air ได้มากนัก การนำ Fresh Air เข้ามาผสมที่ด้านดูดของ FCU จะมีแนวโน้มที่จะทำให้ห้องมีความชื้นสัมพัทธ์สูงเกินไป
ความชื้นสัมพัทธ์ภายในห้องมีผลต่อความรู้สึกของคนไม่ใช่น้อยนะครับ ปกติแล้วสภาวะสบายของคนไทยจะอยู่ที่ประมาณ 45-55% RH ถ้าความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 60% RH เราจะเริ่มรู้สึกเหมือน “แอร์เย็นไม่ฉ่ำ” รู้สึกตัวเหนียวเหนะหนะ ตัวอย่างในเรื่องของความชื้นสัมพัทธ์ที่มีผลต่อความรู้สึกของคนตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ในสภาวะก่อนฝนตก ถ้าเราอยู่ข้างนอกอาคารเราจะรู้สึกร้อนอบอ้าวและเหงื่อออกเป็นเม็ดๆ พอวัดอุณหภูมิอากาศดูปรากฎว่าอุณหภูมิไม่ได้สูงแต่อย่างใด แต่ที่เรารู้สึกร้อนอบอ้าวเพราะความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีค่าสูงต่างหาก ซึ่งเวลาก่อนฝนตกความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศจะสูงถึง 70-80% RH เลยทีเดียว และเรารู้สึกร้อนอบอ้าวเพราะเหงื่อเราไม่สามารถระเหยได้นั่นเองทำให้เราระบายความร้อนออกจากร่างกายไม่ได้ตามปกติเราจึงรู้สึกร้อน
การนำ Fresh Air เข้ามาต่อที่ด้านดูดของ FCU ที่เผื่อขนาด Btu/h ขึ้นไปแล้วจะสามารถทำอุณหภูมิห้องตามต้องการได้ไม่ยาก แต่การจะลดความชื้นลงให้คงอยู่ที่ 50% RH นั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่า เพราะ FCU ถูกออกแบบมาเพื่อลดความร้อนและความชื้นของอากาศภายในห้องในอัตราส่วน 70:30 โดยประมาณ สมมติว่า FCU มีขนาด 12,000 Btu/h ความสามารถในการกำจัดความร้อนจะอยู่ที่ประมาณ 8,400 Btu/h และความสามารถในการกำจัดความชื้นจะอยู่ที่ประมาณ 3,600 Btu/h อัตราส่วน 70:30 นี้เป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมกับภาระความร้อนและความชื้นที่อยู่ในมวลอากาศที่หมุนเวียน (Circulate) ภายในห้อง
ปัญหาคือมวลอากาศที่รับมาจากภายนอกอาคารในประเทศร้อนชื้นแบบประเทศไทยนั้น เชื่อหรือไม่ว่า มีภาระความร้อนต่อภาระความชื้นอยู่ที่ประมาณ 40:60 ฟังไม่ผิดครับ ภาระความชื้นสูงกว่าภาระความร้อนเสียอีก ฉะนั้นแล้วการต่อ Fresh Air เข้าไปที่ด้านดูดของ FCU แบบดื้อๆ ถึงแม้ว่าจะเผื่อขนาด FCU ใหญ่ขึ้นไปอีกเล็กน้อยแล้วก็ตามก็อาจจะไม่สามารถกำจัดความชื้นในมวลอากาศที่รับเข้ามาจากภายนอก (Fresh Air Intake) ได้หมด การใช้ All Fresh Air Unit จึงเหมาะสมกว่าเพราะมันถูกออกแบบมาให้มีความสามารถในการกำจัดความร้อนและความชื้นอยู่ที่อัตราส่วน 40:60 มันจึงสามารถกำจัดความชื้นของ Fresh Air Intake ได้ทั้งหมด และยังสามารถทำอุณหภูมิลมจ่ายให้อยู่ที่ประมาณ 12-15°C เฉกเช่นเดียวกับลมเย็นที่ออกจากปากเครื่อง FCU อีกด้วย ลมเย็นนี้จึงสามารถจ่ายเข้าสู่ห้องโดยตรงได้เลย
อย่างไรก็ดีท่านไม่สามารถคาดหวังได้ว่า ลมเย็นที่ออกจาก All Fresh Air Unit จะสามารถทำให้ห้องเย็นได้โดยที่ไม่ติดตั้งระบบปรับอากาศแบบ FCU นะครับ เพราะปริมาณลมที่ออกมาจาก All Fresh Air Unit นั้นน้อยมาก ท่านยังจำเป็นต้องติดตั้งระบบปรับอากาศแบบ FCU อยู่ดีเพื่อทำให้ห้องเย็น
การต่อ Fresh Air เข้ามาผสมที่ด้านดูดของ FCU นั้นในทางเทคนิคแล้วสู้แบบการใช้ All Fresh Air Unit ไม่ได้ แต่สาเหตุที่นิยมทำกันในอดีตหลายสิบปีก่อนเนื่องจากว่าในสมัยนั้น All Fresh Air Unit ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ค่อยมีจำหน่าย ถ้าต้องการจริงๆมักจะต้องสั่งผลิตแบบ Made to Order จึงมีราคาแพง ปัจจุบัน All Fresh Air Unit มีจำหน่ายแพร่หลายและราคาไม่แพงแล้ว จึงเป็นที่นิยมใช้ในอาคารที่คำนึงถึงการระบายอากาศที่ได้มาตรฐานอย่างแพร่หลาย
การออกแบบเครื่อง All Fresh Unit
การออกแบบเครื่อง All Fresh Unit ให้สามารถลดความชื้นได้มากกว่า Fancoil Unit นั้น ผู้ผลิตจะออกแบบให้ลมที่ไหลผ่านแผงคอยล์เย็นไหลผ่านช้าๆ เพื่อให้ความชื้นในอากาศมีเวลาสัมผัสกับแผงคอยล์เย็นนานขึ้นเพื่อให้เกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำมากขึ้น เราสามารถสังเกตดูค่านี้ได้ง่ายๆ จากบน Catalog คือ เอาค่า Air Flow Rate มาหาร Btu/h ปกติแล้ว Fancoil Unit จะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 300-380 CFM/Ton แต่ถ้าเป็น All Fresh Air Unit จะอยู่ที่ประมาณ 150-190 CFM/Ton เท่านั้น (ทั้งนี้ 1 Ton จะเท่ากับ 12,000 Btu/h)
All Fresh Air Unit จัดว่าเป็นอุปกรณ์ในระบบปรับอากาศ (Air-conditioning System) ที่ถูกสร้างมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของระบบระบายอากาศ (Ventilation System) อาคารที่ดีจำเป็นต้องมีต้องมีระบบระบายอากาศที่ดี การระบายอากาศจะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยในอาคารมีความรู้สึกสดชื่นปลอดโปร่ง มีสุขภาพดี และมีประสิทธิภาพในการทำงานและการเรียนรู้ที่ดี เพราะการระบายอากาศจะช่วยพาสิ่งไม่พึงประสงค์ในอากาศออกไปจากอาคารได้ สิ่งไม่พึงประสงค์ได้แก่
- ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการหายใจของมนุษย์ซึ่งถ้ามีค่าสูงเข้าใกล้ 1000 PPM จะทำให้รู้สึกมึนงงและง่วงนอน
- ฝุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง PM2.5 ซึ่งมีผลวิจัยยืนยันออกมาแล้วว่าเป็นสารก่อมะเร็งอันดับหนึ่ง
- กลิ่นต่างๆ เช่น กลิ่นอาหาร กลิ่นอับ กลิ่นบุหรี่
- สารระเหยต่าง ๆ ที่ออกมาจากเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน สีทาบ้าน ซึ่งสารระเหยนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า VOC (Volatile Organic Compound) และสารนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์เป็นอย่างมาก
ปริมาณการระบายอากาศของอาคารสามารถวัดเป็นตัวเลขได้โดยใช้หน่วย ACH ซึ่งย่อมากจาก Air Changes per Hour มีความหมายว่า อากาศภายในอาคารทั้งหมดถูกแทนที่ด้วยอากาศภายนอกอาคารกี่รอบภายใน 1 ชั่วโมง การแทนที่นั้นจะเกิดขึ้นทีละน้อยและต่อเนื่อง เรามักเรียกค่า ACH กันสั้น ๆ ว่าค่า Air Change
อาคารทั่ว ๆ ไป เช่น สำนักงาน โรงแรม คอนโดมิเนียม โรงเรียน มหาวิทยาลัย ควรจะมีค่า Air Change อยู่ที่ 2-4 ACH ถึงจะทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสดชื่นปลอดโปร่ง การระบายอากาศที่มีค่าต่ำกว่า 2 ACH จะทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกง่วงนอนจากภาวะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศสูงเกินไป ประสิทธิภาพในการทำงานหรือการเรียนรู้ของคนทำงาน นักเรียน นักศึกษา จะลดลงอย่างมาก
ถ้าอาคารหรือห้องมีการทำงานหรือการผลิต (Production) ที่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศมากกว่าปกติ เช่น มีการสร้างฝุ่น สร้างแก๊สพิษ สร้างกลิ่นเหม็น สร้างเชื้อโรค เราจำเป็นต้องจัดให้มีระบบระบายอากาศที่มีค่า ACH สูงขึ้น มิเช่นนั้นแล้วจะมีผลเสียต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยภายในห้องหรืออาคารแห่งนั้น ยกตัวอย่างเช่น โรงงาน หรือสถานพยาบาล จะต้องมีค่า ACH ที่สูงกว่า 4 ACH
ประเภทการระบายอากาศ
- การระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติ (Natural Ventilation)วิธีนี้คือไม่ได้ติดตั้งพัดลมระบายอากาศ (Exhaust Fan) หรือ All Fresh Air Unit เลย ปกติแล้วอาคารทั่วไปในประเทศไทยถ้าเราปิดประตูและหน้าต่างทั้งหมดอาคารจะมีค่า Air Change จะอยู่ที่ประมาณ 0.25 – 1 ACH ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป จึงจำเป็นต้องเปิดหน้าต่างบ้างบางครั้งเพื่อระบายอากาศ อย่างไรก็ดีการเปิดหน้าต่างก็อาจทำให้ผุ่นละออง ความร้อนและความชื้นไหลเข้ามาภายในอาคารได้
- การระบายอากาศด้วยพัดลมดูดอากาศ (Exhaust Ventilation) อย่างเดียววิธีนี้คือ มีการติดตั้งพัดลมระบายอากาศ (Exhaust Fan) แต่ไม่ได้ติดตั้ง All Fresh Air Unit ปกติแล้วอาคารที่ดีควรจะติดตั้งพัดลมระบายอากาศในจุดที่มีอากาศไม่ดี เช่น ในห้องน้ำ ในห้องครัว บริเวณเครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น เมื่อพัดลมทำงานเพื่อดูดอากาศไปทิ้งนอกอาคาร อากาศจากบริเวณอื่นภายในอาคารจะไหลเข้าไปแทนที่อากาศในบริเวณที่พัดลมดูดออกไป เมื่อมองภาพรวม อาคารทั้งหลังจะมีสภาพความดันเป็นลบ (Negative Pressure) เพราะอากาศในอาคารถูกพัดลมดูดออกไปทิ้งข้างนอก อากาศจากข้างนอกจะพยายามไหลเข้ามาแทนที่โดยจะเข้ามาตามรูรั่วต่างๆ ของอาคาร เช่น ตามขอบประตูและหน้าต่าง การระบายอากาศด้วยวิธีนี้สามารถทำให้อาคารมีค่า Air Change อยู่ที่ 2-4 ACH ได้ถ้าเราเลือกขนาดพัดลม Exhaust Fan ใหญ่พอ การระบายอากาศด้วยวิธีนี้มีข้อเสียคือจะมีฝุ่นละออง ความร้อน และความชื้นไหลเข้ามาตามรูรั่วของอาคาร และบ่อยครั้งมักสร้างปัญหามีน้ำ Condensation เกาะที่หน้ากากหัวจ่ายลมเย็นตรงทางเข้าอาคารและหยดลงบนพื้นทำให้พื้นเปียก การไหลเข้ามาของความร้อนและความชื้นนี้ยังเป็นการเพิ่มภาระให้กับเครื่องปรับอากาศอีกด้วย
ห้องที่มีความดันเป็นลบดังภาพข้างบนนี้คือกรณีอาคารทั่ว ๆ ไปนะครับ ท่านไม่สามารถใช้อ้างอิงกับกรณีของห้องความดันลบที่อยู่ในสถานพยาบาลได้ เพราะห้องความดันลบในสถานพยาบาลนั้นจะมีห้อง Ante Room ดักอยู่ตรงทางเข้า และก่อนเข้าห้อง Ante Room ก็เป็นทางเดินซึ่งอยู่ภายในอาคาร ดังนั้นจึงไม่มีฝุ่น ความร้อนหรือความชื้นไหลเข้าไปสู่ห้องความดันลบได้ง่าย ๆ เหมือนดังภาพข้างบนนะครับ นอกจากนี้ในเรื่องของ Exhaust Air ยังมีกฎข้อบังคับถึงวิธีการนำอากาศเสียไปปล่อยทิ้งอย่างถูกต้องมิใช่ปล่อยทิ้งง่าย ๆ เหมือนในภาพข้างบน เพราะห้องความดันลบในสถานพยาบาลนั้นเป็นห้องสำหรับรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น โรค Covid – 19 ซึ่งผู้ป่วยจะมีเชื้อไวรัส Corona2019 เจือปนออกมากับลมหายใจ การนำ Exhaust Air ไปทิ้งจึงต้องออกแบบระบบ Ventilation ให้ถูกต้องตามกฎข้อบังคับ ซึ่งเรื่องนี้มีรายละเอียดมาก เราจะหาเวลามาพูดคุยกันอีกครั้งในภายหลังครับ
- การระบายอากาศด้วยการอัดอากาศ (Pressurized Ventilation)การระบายอากาศแบบนี้จะติดตั้ง All Fresh Air Unit เพื่ออัดอากาศบริสุทธิ์เข้ามาและก็มีการติดตั้ง Exhaust Fan ด้วย การติดตั้ง Exhaust Fan เพื่อดูดอากาศในบริเวณที่มีอากาศไม่ดีออกไปทิ้งนอกอาคารนั้น ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของอาคารที่ต้องการให้มีระบบระบายอากาศที่ดี การเลือกปริมาณลมของ Exhaust Fan ควรเลือกให้มีปริมาณน้อยกว่า All Fresh Air Unit ประมาณ 20% เพื่อสร้างสภาวะความดันบวก (Positive Pressure) ให้เกิดขึ้นภายในอาคาร สภาวะความดันบวกจะช่วยป้องกันฝุ่นละออง ความร้อนและความชื้นมิให้ไหลเข้าสู่อาคารตามรูรั่วต่าง ๆ ได้ ฝุ่นละออง ความร้อนและความชื้นจะถูกบังคับให้เข้ามาทาง All Fresh Air Unit เท่านั้น เราสามารถติดตั้ง Medium Filter MERV 14 เพื่อกรองฝุ่น PM2.5 ที่ด้านดูดของ All Fresh Air Unit ฉะนั้นฝุ่น PM2.5 จึงไม่สามารถรั่วไหลเข้ามาภายในอาคารได้ การระบายอากาศวิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับอาคารทั่วไปและไม่ได้ลงทุนมากอย่างที่คิด
การเลือกขนาด All Fresh Air Unit
วิธีการเลือกขนาด All Fresh Air Unit นั้นเราจะไม่เลือกด้วย Btu/h แต่จะเลือกด้วยค่า Air Flow Rate สมมุติว่า เรามีห้องอยู่ห้องหนึ่งขนาด 10 m x 10 m x 2.7 m คำนวณปริมาตรอากาศในห้องออกมาจะได้ 270 m3 ตามมาตรฐานแล้วอาคารทั่ว ๆ ไปควรมีค่า Air Change อยู่ที่ 3 ACH ฉะนั้นขนาดของ All Fresh Air Unit จึงอยู่ที่ 270 m3 x 3 ACH เท่ากับ 810 m3/h รุ่นเครื่องที่มีให้เลือกใกล้เคียงที่สุดคือรุ่น 1,080 m3/h เราจึงเลือกรุ่นนี้ (อ้างอิงตามผลิตภัณฑ์ Hisense VRF ดังตารางข้างล่าง)
หลังจากนั้นจึงทำการเลือกรุ่น CDU หลักการเลือก CDU นั้นเราจะต้องเลือก CDU ที่มีค่า Btu/h เท่ากับหรือมากกว่า Btu/h ของ All Fresh Air Unit ดังนั้นเราจึงได้รุ่น 47,800 Btu/h ซึ่งเป็นรุ่น CDU แบบเป่าลมร้อนออกด้านหน้า ถ้าเราอยากได้ CDU รุ่นที่เป่าลมร้อนขึ้นด้านบน เราจำเป็นต้องเลือกเป็นรุ่น 76,400 Btu/h เพราะรุ่น 47,800 Btu/h ไม่มีให้เลือก
เราได้พูดคุยเรื่องราวเกี่ยวกับ All Fresh Air Unit มาพอสมควรแล้ว หวังว่าบทความนี้จะทำให้ท่านเข้าใจประโยชน์ของมันและวิธีการเลือกใช้ ถ้าท่านกำลังต้องการปรับปรุงอาคารหลังเก่าหรือกำลังออกแบบระบบระบายอากาศให้อาคารหลังใหม่ หวังว่าท่านจะไม่ลืมเลือกใช้ All Fresh Air Unit นะครับ เพื่อที่ผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารจะได้มีสุขภาพที่ดีและมีประสิทธิภาพในการทำงาน แล้วกลับมาพบกันใหม่ครับในบทความหน้า หรือหากท่านสนใจระบบปรับอากาศ VRV/VRF ติดต่อเราได้ที่นี่ครับ
ติดตาม Harn Engineering Solutions
เรามีบทความดีๆ และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์