คอยล์เย็นเป็นหนึ่งในอุปกรณ์หลักของระบบทำความเย็นที่มีความสำคัญมาก การออกแบบคอยล์เย็นให้เหมาะสมจึงมีความสำคัญต่อระบบทำความเย็น นอกจากช่วยรักษาสภาพสินค้าให้คงเดิมเป็นระยะเวลานาน ยังให้ประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานได้อีกด้วย
1. การถ่ายเทความร้อน (Heat Transfer)
หลักการออกแบบและคำนวณคอยล์เย็นมีหลักการสำคัญ 2 ประการคือ การถ่ายเทความร้อน (Heat Transfer) โดยการนำ (Conduction) และการพา (Convection)
1.1. การถ่ายเทความร้อน (ความเย็น) โดยการนำ (Conduction)
เป็นการนำความเย็นจากท่อทองแดงที่เป็นแหล่งกำเนิดความเย็นไปสู่ฟินคอยล์
1.2. การถ่ายเทความร้อน (ความเย็น) โดยการพา (Convection)
เป็นการพาความเย็นจากฟินคอยล์สู่ห้องโดยอาศัยอากาศเป็นตัวพา
คอยล์เย็นอาศัยหลักการพื้นฐานของการถ่ายเทความร้อนทั้งสองแบบ แต่การออกแบบคอยล์เย็นยังมีส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของการออกแบบ นั่นคือ การคำนวณหาพื้นที่การแลกเปลี่ยนความร้อน
SA =[2/Sfin/1000] x [Sh x Sd – π/4 x[dT² + n x dh²]] x r + π x dT/1000
and
Total Surface Area = SA x Ifin x [N° Tubes High + N° of Tubes Deep]
หลายคนได้กล่าวว่า คอยล์เย็นเป็นอุปกรณ์ที่ไม่สำคัญมากทำให้เย็นได้ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้อง เพราะในความเป็นจริงแล้ว คอยล์เย็นจำเป็นต้องอาศัยหลักการออกแบบและคำนวณให้ถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิศวกรรมที่ดี ในอุตสาหกรรมมีคอยล์เย็นหลายยี่ห้อให้เลือกใช้งาน แต่ละยี่ห้อสามารถทำงานให้อากาศภายในห้องเย็นนั้นเย็นได้ แต่สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่และกำลังเป็นภัยคุกคามต่อผู้ใช้งานอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นค่าพลังงานไฟฟ้าที่ต้องจ่าย ความคงทน ความปลอดภัยในการใช้งาน เพราะเมื่อคอยล์เย็นเกิดปัญหา ย่อมส่งผลเสียต่อสินค้าภายในห้อง และสินค้าที่เก็บส่วนใหญ่มักมีราคาสูงกว่าส่วนต่างราคาของคอยล์เย็นที่เพิ่มขึ้น
2. มาตรฐานของคอยล์เย็น (Eurovent Certified)
การตัดสินใจเลือกใช้งานของอุปกรณ์ สิ่งแรกที่ควรพิจารณาคือ อุปกรณ์นั้นได้รับการรับรองมาตรฐานหรือไม่? เพราะมาตรฐานเป็นเครื่องกลั่นกรองและการันตีคุณภาพของสินค้านั้นๆ รวมทั้งประโยชน์ที่ผู้ใช้จะได้รับสูงสุด สำหรับคอยล์เย็นที่เป็นอุปกรณ์หลักในระบบทำความเย็นทั้งในงานอุตสาหกรรมและในเชิงพาณิชย์ ควรที่จะมีมาตรฐานรองรับ มีสถาบันให้การรับรองและเป็นที่น่าเชื่อถือในยุโรป คือ EUROVENT CERTIFIED ซึ่งให้การรับรองค่าการทำความเย็นที่ระบุในแคตตาล็อคว่าได้ตามจริง เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้านั้นๆ โดยสามารถทำการตรวจสอบยี่ห้อที่ได้การรับรองได้ที่ http://www.eurovent-certification.com สินค้าที่ได้การรับรองจากทางสถาบันฯ จะได้รับตราที่เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความมั่นใจในการเลือกใช้สินค้านั้นๆ
3. การออกแบบภายในท่อ
เนื่องจากแหล่งกำเนิดความเย็นของคอยล์เย็นเกิดขึ้นภายในท่อสารทำความเย็น โดยการระเหยของสารทำความเย็นที่ความดันต่ำ ท่อดังกล่าวจึงเกิดความเย็น ดังนั้น ท่อสารทำความเย็นจึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการถ่ายเทความร้อน (เย็น)
ณ ปัจจุบันมีการปรับปรุงออกแบบท่อสารทำความเย็นในคอยล์เย็นให้ภายในท่อเกิดการไหลแบบปั่นป่วน (Turbulent) ทำให้สารทำความเย็นสามารถแลกเปลี่ยนความร้อน (เย็น) กับท่อฯ ได้ดีขึ้น มีผลทำให้ประสิทธิภาพของคอยล์เย็นดีขึ้น
โดยท่อที่ดีควรมีความหนาเพื่อเสริมความแข็งแรงของคอยล์ไม่ให้รั่วหรือแตกร้าวง่าย เมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตคอยล์เย็นในส่วนการขยายตัว (Expansion) ของท่อทนต่อแรงดันและแรงบิดตัวได้ดีในการใช้งาน
4. การออกแบบฟินคอยล์
ฟินคอยล์มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการถ่ายเทความร้อน (เย็น) โดยการพาความร้อน (เย็น) เข้าสู่ห้อง
การออกแบบฟินคอยล์ที่เหมาะสมต้องทำให้อากาศที่ไหลผ่านฟินคอยล์เป็นแบบปั่นป่วน (Turbulent) การไหลแบบปั่นป่วนนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการพาความร้อน (เย็น) ได้ดี แต่ถ้าปั่นป่วนมากไปจะเกิดความดันตก (Pressure Drop) ซึ่งเป็นความสูญเสียที่จะต้องเพิ่มขนาดของพัดลมให้มีกำลังสูงขึ้น เพื่อสร้างความดันสูงเอาชนะความดันตกในคอยล์
ดังนั้น การพิจารณาการออกแบบลายของฟินคอยล์ที่สามารถเกิดการแลกเปลี่ยนความร้อน (เย็น) ได้ดี และเกิดความดันตก (Pressure Drop) น้อย จึงเป็นหัวข้อสำคัญในการออกแบบ การใช้โปรแกรม Finite Element Method (FEM) มาช่วยวิเคราะห์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันครับ
“การขึ้นลายฟินคอยล์นั้น วัสดุที่ใช้ทำฟินคอยล์จำเป็นต้องมีความหนาระดับหนึ่ง เพื่อไม่เกิดความเสียหายจากการกดขึ้นลายดังกล่าว จึงเป็นสาเหตุที่ว่า คอยล์เย็นบางยี่ห้อมีความหนาเป็นพิเศษ มีลายที่สามารถแลกเปลี่ยนความร้อน (เย็น) ได้ดี แต่ใช้พื้นผิวฟินคอยล์น้อยกว่า ซึ่งการนำข้อมูลเฉพาะบางอย่างของคอยล์เย็น เช่น พื้นที่ผิวของคอยล์เย็น ปริมาณส่งลม จำนวนพัดลม และอื่นๆ ของยี่ห้อหนึ่งมาเทียบเคียงอีกยี่ห้อหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงองค์ประกอบในการทำให้คอยล์เย็น มีความสามารถในการทำความเย็นได้ ทั้งนี้ควรพิจารณาค่าทำความเย็นของคอยล์ที่เกิดขึ้น เพราะคอยล์เย็นแต่ละยี่ห้อจะอยู่บนพื้นฐานการออกแบบลายฟินคอยล์ รูปแบบการจัดเรียงท่อ รูปแบบของท่อ ปริมาณลม ความเร็วลม และอื่นๆ ที่แตกต่างกัน”
5. การออกแบบการละลายน้ำแข็งด้วยไฟฟ้า
ในห้องเย็นที่อุณหภูมิห้องต่ำศูนย์องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดน้ำแข็งขึ้นที่คอยล์เย็น ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำความเย็นลดลง น้ำแข็งจึงเป็นอุปสรรคและเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์สำหรับห้องเย็น เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงจำเป็นต้องหาทางจัดการกับน้ำแข็งที่เกิดขึ้นด้วยการละลาย
การละลายน้ำแข็งมีด้วยกันหลายวิธี เช่น การละลายด้วยฮีตเตอร์ไฟฟ้า แก๊สร้อน แก๊สเย็น น้ำร้อน และอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ห้องเย็นที่มีขนาดเล็กถึงปานกลางมักใช้ฮีตเตอร์ไฟฟ้าช่วยละลายน้ำแข็ง ฮีตเตอร์ในคอยล์เย็นจะละลายน้ำแข็งได้ดีก็ต่อเมื่อมีการนำความร้อนจากแท่งฮีตเตอร์ไปสู่ฟินคอยล์ที่ดี คอยล์เย็นบางยี่ห้อจึงออกแบบให้มีปลอกใส่ฮีตเตอร์ (Sleeves) ภายใน โดยมีลักษณะเป็นปลอก ด้านนอกของปลอกจะติดกับฟินคอยล์ ส่วนด้านในปลอกไว้สอดแท่งฮีตเตอร์
เมื่อฮีตเตอร์ทำงาน ความร้อนจะนำผ่านปลอกไปสู่ฟินคอยล์ จึงทำให้น้ำแข็งละลายได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว แต่มีคอยลืเย็นบางยี่ห้อที่ไม่มีปลอก (Sleeves) ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ละลายน้ำแข้งไม่หมดบ้าง ฮีตเตอร์ขาดบ้าง หรือค่าไฟจากฮีตเตอร์ที่สูงมาก
6. การออกแบบเลือกใช้พัดลม
อากาศเป็นตัวกลางในการนำความเย็นไปสู่สินค้า โดยเป็นตัวพาความเย็นจากคอยล์เย็นไปสู่สินค้า ดังนั้นจำเป็นต้องเลือกอุปกรณ์ที่จะส่งลมให้เหมาะสม เพราะถ้าเลือกพัดลมไม่ดี ย่อมสามารถก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้
มีผู้ใช้หลายรายเข้าใจผิดในการเลือกคอยล์เย็น ที่นำไปเปรียบเทียบคอยล์เย็นต่างยี่ห้อ จากขนาดและจำนวนพัดลม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งของการออกแบบคอยล์เย็นเท่านั้น ที่สามารถทำความเย็นได้ตามที่ต้องการ โดยหลักการออกแบบของแต่ละบริษัท ในแต่ละยี่ห้อ คอยล์เย็นบางยี่ห้อมีประสิทธิภาพของคอยล์เย็นที่ดีจึงใช้ขนาดของพัดลมที่เล็ก และจำนวนพัดลมที่น้อย สามารถทำความเย็นได้ตามที่ต้องการ ซึ่งแตกต่างกับคอยล์เย็นบางยี่ห้อต้องใช้ขนาดและจำนวนพัดลมที่มากเพื่อที่จะได้ความสามารถในการทำความเย็นตามที่ต้องการ
ดังนั้น การตัดสินใจเปรียบเทียบหรือเทียงเคียงคอยล์เย็นต่างยี่ห้อ โดยพิจารณาจากขนาดและจำนวนพัดลม จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ถูกต้องครับ
เรียบเรียงโดย : ดร. สุกิจ ลิติกรณ์
ผู้อำนวยการสนับสนุนวิศวกรรม ธุรกิจระบบทำความเย็น
บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
ติดตาม Harn Engineering Solutions
เรามีบทความดีๆ และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์