การพิมพ์ 3 มิติสำหรับการแพทย์โดยบริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ที่ช่วยในการวางแผนการผ่าตัดของทีมแพทย์ ด้วยการสร้างโมเดลสามมิติเพื่อใช้ในการประเมินวิธีการผ่าตัดให้กับคนไข้ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดที่รวดเร็ว ลดอาการบาดเจ็บและใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อย
สำหรับบทความนี้จะนำเสนอกรณีศึกษาของการสร้างโมเดลสามมิติจากทาง บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมมือกับทาง นพ. นพพล ทักษอุดม หน่วยศัลยกรรมทรวงอก (CVT) ภาควิชาศัลยศาสตร์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการทำไฟล์หัวใจของคนไข้เด็กออกมาเป็นโมเดลสามมิติเพื่อช่วยให้ทีมแพทย์สามารถวางแผนการศัลยกรรมหัวใจของคนไข้ได้อย่างแม่นยำ
ช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กให้ได้รับการผ่าตัดอย่างปลอดภัย
เคสแรก ผู้ป่วยเด็กเพศหญิงที่มีภาวะหัวใจวายตั้งแต่กำเนิด โดยทางกุมารแพทย์โรคหัวใจได้วินิจฉัยว่าเป็นภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดซับซ้อน ได้แก่ ผนังกั้นห้องหัวใจห้องล่างรั่ว พร้อมกับหลอดเลือดแดงใหญ่ทั้งสองเส้นออกจากหัวใจห้องล่าง ร่วมกับมีหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบแคบ (Double outlet of right ventricle; DORV subaortic ventricular septal defect; VSD, transverse aortic arch hypoplasia with coarctation of aorta) ทางทีมศัลยกรรมหัวใจได้ทำการผ่าตัดซ่อมแซมหลอดเลือดแดงใหญ่ พร้อมทั้งรัดหลอดเลือดใหญ่ที่ส่งเลือดไปยังปอดเพื่อลดอาการหัวใจวาย (Coarctation and hypoplastic arch aortic repair with pulmonary arterial banding)
หลังจากการผ่าตัดพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถหย่าเครื่องช่วยหายใจได้ ต้องได้รับการเจาะคอและนอนดูแลอยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤติตลอด ทางทีมผู้รักษาได้พยายามเพิ่มน้ำหนักและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มาตลอดเป็นระยะเวลา 2 ปี แต่ผู้ป่วยยังคงมีน้ำหนักน้อยและยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ตลอด
จากนั้นคนไข้ได้รับการตรวจคลื่นความถี่สูงหัวใจ (Echocardiography) แล้วพบว่าผู้ป่วยมีขนาดรูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่างแคบผิดปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะตีบตันทั้งสองห้องหัวใจ แต่ยังคงมีความไม่ชัดเจนจากการตรวจวินิฉัยอยู่ตลอด โดยเฉพาะรูรั่วของผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่าง ซึ่งบางครั้งอ่านผลได้ว่าเล็ก บางครั้งก็อ่านผลได้ว่าใหญ่และไม่ตีบตัน
จากข้อมูลวินิฉัยที่ซับซ้อน สู่การแก้ปัญหาด้วยโมเดลสามมิติ
หลังจากทีมแพทย์พบว่าการวินิฉัยยังไม่มีความชัดเจน จึงตัดสินใจส่งคนไข้เข้ารับการตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) แพทย์รังสีรายงานความผิดปกติว่า ผนังกั้นห้องหัวใจรั่วขนาดเล็กมากเพียง 3 มม. ร่วมกับหลอดเลือกแดงใหญ่ทั้งสองเส้นออกจากหัวใจห้องล่างขวาเพียงห้องเดียว
“ข้อมูลนี้ทำให้สร้างความสับสนมากกว่าเดิมกับทีมผ่าตัด เนื่องจากข้อมูลสับสนและไม่ตรงกับผลการตรวจคลื่นความถี่สูง”
ทางทีมผู้รักษาจึงได้ร่วมมือกับทางบริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ในการทำโมเดลหัวใจของคนไข้เด็กรายนี้ โดยทางทีมแพทย์ผู้ผ่าตัดได้ช่วยในการเลือกจุดที่จำเป็นต้องทำการประเมิน และเสนอวิธีการเฉือนโมเดลเพื่อให้เห็นองค์ประกอบที่สำคัญภายในหัวใจอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนก่อนการผ่าตัด
“โมเดลสามมิติใช้เพื่อการวางแผนผ่าตัดคนไข้ในรายที่ผลการวินิจฉัยซับซ้อน รวมถึงในรายที่ต้องรับการผ่าตัดซ้ำ”
เมื่อทางทีมแพทย์ได้ข้อมูลครบถ้วน จากการศึกษาโมเดลหัวใจและกลับไปทบทวนภาพรังสีจากการตรวจครั้งก่อนหน้าอย่างละเอียดแล้ว จึงได้ข้อสรุปของการวินิฉัยว่า ผู้ป่วยเด็กรายนี้มีภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ทั้งสองเส้นออกจากหัวใจห้องล่างขวา (DORV) จริงตามการวินิจฉัยครั้งแรก แต่พบรูรั่วของผนังกั้นห้องหัวใจมากกว่า 1 รู คือ มีทั้งบริเวณใต้หลอดเลือดแดงใหญ่ทั้งสองเส้น โดยบริเวณใต้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงร่างกายมีขนาดเล็กเพียง 3 มม. (Small restrictive subarotic VSD) และอีกรูมีขนาดใหญ่มากเกือบ 2 เซนติเมตร ในบริเวณใต้ลิ้นหัวใจที่ไปปอด (Large outlet muscular VSD) โดยทั้งสองรูมีผนังกั้นขวางกันอยู่ (Conal septum)
หลังจากได้ข้อมูลและวางแผนการผ่าตัดครบถ้วนแล้ว ทีมศัลยกรรมหัวใจจึงนำผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติทั้งหมดตามแผนที่วางเอาไว้ ซึ่งหลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และสามารถหย่าเครื่องช่วยหายใจได้อย่างรวดเร็วจนสามารถกลับบ้านได้ในที่สุด
ช่วยเหลือทีมแพทย์ในการวินิฉัยภาวะที่พบได้ไม่บ่อย ให้วางแผนการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว
เคสที่สอง เด็กชายแรกคลอดร่างกายแข็งแรงสามารถกลับบ้านได้ตามปกติ เมื่ออายุได้ 3 เดือนเกิดภาวะหายใจเร็วผิดปกติแสดงอาการเหนื่อยมาก แม่ของเด็กจึงได้พาไปโรงพยาบาลและได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อป้องกันสภาวะหัวใจล้มเหลว จากนั้นผู้ป่วยเด็กรายนี้ได้รับการส่งตัวไปยังโรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ และตรวจพบความผิดปกติของห้องหัวใจ ซึ่งพบว่าผู้ป่วยมีห้องหัวใจห้องบนเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งห้อง (Cor triatriatum sinistrum) ขวางทางระบายเลือดที่มาจากปอดเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้าย ทำให้เลือดล้นกลับไปยังปอดจนเกิดภาวะน้ำท่วมปอด
เนื่องจากเป็นภาวะที่ไม่ได้พบบ่อย ทางทีมแพทย์ได้ทำการตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์หัวใจของคนไข้และส่งภาพโมเดลสามมิติกับบริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อช่วยสร้างโมเดลหัวใจให้ทีมแพทย์ใช้วินิฉัยและวางแผนผ่าตัด เพื่อลดอาการบาดเจ็บที่ไม่จำเป็นกับเด็กแรกเกิด
“โมเดลหัวใจของคนไข้ยังสามารถเก็บไว้ใช้ในการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้านต่อไปในอนาคต”
เมื่อศึกษาโมเดลหัวใจของผู้ป่วยเด็กรายนี้แล้ว ทีมแพทย์จึงทำการผ่าตัดเอาผนังกั้นผิดปกติออกไปเพื่อให้การระบายเลือดลงหัวใจสะดวกขึ้น หลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้ในเวลาไม่นาน และกลับบ้านได้หลังผ่าตัดประมาณ 10 วัน
สรุป
Harn 3D Med จากบริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ช่วยสร้างโมเดลสามมิติอวัยวะของคนไข้เพื่อให้ทีมแพทย์สามารถนำโมเดลประเมินผลวินิจฉัยก่อนการผ่าตัด ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงองค์ประกอบภายในอวัยวะ ซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงกับคนไข้โดยเลือกเพียงจุดที่จำเป็นของคนไข้เคสต่อเคส เพื่อการผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว
นอกจากนี้การวางแผนยังช่วยลดอาการบาดเจ็บหลังการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นให้กับคนไข้ ซึ่งช่วยให้ระยะเวลาการพักฟื้นของลดลง และตัวโมลเดลอวัยวะยังสามารถเก็บไว้ใช้ศึกษาสำหรับนักศึกษาแพทย์ได้อีกด้วย
ถ้าหากว่าคุณกำลังสนในการพิมพ์สามมิติหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับการพิมพ์สามมิติสำหรับการแพทย์ Harn 3D Med ติดต่อเราได้ที่นี่ เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการพิมพ์สามมิติที่คอยให้คำปรึกษากับคุณอย่างเต็มที่
ติดตาม Harn Engineering Solutions
เรามีบทความดีๆ และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์