สงสัยไหมครับว่า ระบบดับเพลิงในอาคาร นั้นสำคัญอย่างไร?
ความสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ เมื่อเกิดไฟลุกไหม้ในอาคารที่เรากำลังอาศัยหรือทำงานอยู่ แล้วที่อาคารนั้นไม่มีอุปกรณ์ดับเพลิงเลย จนกว่าที่คุณจะรู้ตัวว่าเกิดไฟไหม้ก็อาจจะเกิดความเสียหายไปมากแล้วก็ได้ เพราะไฟสามารถลุกลามและทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารและบริเวณใกล้เคียง รวมถึงควันไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ ก็อาจจะทำให้คุณหมดสติก่อนที่จะหนีออกจากอาคารได้
เพลิงไหม้ในอาคารเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ่อย เมื่อเกิดเพลิงไหม้ก็อาจก่อให้เกิดความสูญเสียได้เป็นอย่างมาก ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้และระบบดับเพลิงในอาคารจึงเป็นอีกระบบสำคัญ ที่จะช่วยลดการเกิดความเสียหายได้
ในขณะเกิดเพลิงไหม้ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ จะช่วยส่งสัญญาณเตือนก่อนที่เพลิงจะเกิดการลุกไหม้อย่างรุนแรง จนไม่สามารถควบคุมได้ และระบบดับเพลิงอาจจะช่วยดับไฟได้ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์รวมถึงช่วยให้คุณออกจากอาคารได้อย่างปลอดภัย
เมื่อคุณอ่านบทความนี้จบอาจจะช่วยให้คุณมองไปที่รอบๆ อาคารที่คุณพักอาศัยอยู่นั้นมีความปลอดภัยมากแค่ไหน?
ธรรมชาติของการเกิดเพลิงไหม้ในอาคาร
จากสถิติของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ปี 2555 กรุงเทพมหานคร เกิดเหตุเพลิงไหม้สูงถึง 1,145 ครั้ง คิดเป็น 94.24% ของสาธารณภัยทุกประเภท โดยช่วงเดือนที่เกิดบ่อยคือ มกราคม-เมษายน เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นน้อย และอาคารประเภทบ้านพักอาศัยและอาคาร มีโอกาสเกิดเพลิงไหม้ได้มากที่สุด
ด้วยเหตุนี้เองทำให้เห็นว่า อาคารส่วนใหญ่ไม่ได้มีอุปกรณ์หรือระบบดับเพลิงในอาคาร เนื่องจากถูกมองว่าการเกิดเพลิงไหม้มีโอกาสเกิดได้น้อย แต่เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้วจะทำให้เกิดความสูญเสียเป็นอย่างมากทั้งทรัพย์สินรวมไปถึงชีวิตของผู้ที่อยู่ในอาคารได้ อย่างน้อยในอาคารขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ก็ควรจะมีถังดับเพลิง กริ่งเตือนภัย หรือบันไดหนีไฟ เอาไว้ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น จะสามารถช่วยลดความสูญเสียได้
เพลิงไหม้ส่วนใหญ่เกิดจากประกายไฟที่มาจากเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เกิดจากความประมาทจากการใช้งาน รวมถึงการขาดการบำรุงรักษาซึ่งเป็นเหตุให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้
1. ไฟฟ้าลัดวงจร
ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย เมื่อเราอ่านข่าวจะพบว่าสาเหตุที่เพลิงไหม้อาคารส่วนใหญ่มาจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ใกล้ตัวของเรามาก เพราะเราใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกอยู่แทบตลอดเวลา เมื่อไม่มีการบำรุงรักษาหรือปล่อยปละละเลยก็จะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้
เมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร จะเกิดประกายไฟลุกไหม้บริเวณโดยรอบ รวมถึงการระเบิดของบัลลาสต์ ซึ่งไฟอาจจะกระเด็นไปติดกับ เชื้อเพลิงบริเวณใกล้เคียง เช่น ไม้ พลาสติก หรือวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี
2. อุบัติเหตุจากการใช้งานอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
แม้ว่าคุณจะตรวจสอบดีแล้วว่า อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในอาคารนั้นได้มาตรฐานและใช้กำลังไฟที่เหมาะสม แต่การใช้งานด้วยความประมาท เช่น การเสียบปลั๊กของเครื่องใช้ไฟฟ้าไว้เป็นเวลานาน จะส่งผลให้อุปกรณ์เหล่านี้มีความร้อนที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการลุกไหม้หรือระเบิดได้
ทางที่ดีควรถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อใช้งานเสร็จแล้วให้เป็นนิสัย และหมั่นตรวจสอบการชำรุดของอุปกรณ์เหล่านี้ให้ดี
ทำไมกฏหมายถึงต้องให้ความสำคัญกับระบบดับเพลิง
เพลิงไหม้สร้างความเสียหายได้มากกว่าหากไม่มีระบบดับเพลิงภายในอาคาร จึงเกิดกฏหมายขึ้นเพื่อป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดเพลิงไหม้ เพื่อให้เกิดการอยู่รอดปลอดภัยทั้งทรัพย์สินและอยู่อาศัยในอาคารด้วย หลายท่านอาจจะสงสัยถึงความจำเป็นของระบบดับเพลิง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้นเลย การป้องกันไว้ก่อนจึงน่าจะดีกว่าต้องมาแก้ปัญหาในภายหลัง
อาคารสูง
สำหรับอาคารสูงเกิน 23 เมตร และอาคารใหญ่พิเศษ ที่มีพื้นที่เกิน 10,000 ตารางเมตร ตามกฏหมายแล้ว ควรมีถังดับเพลิง 1 เครื่องขนาดไม่น้อยกว่า 4 กิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตร และควรมีมากกว่า 1 เครื่องในแต่ละชั้น มีระบบแจ้งเตือนเพลิงไหม้ (Fire Alarm) มีระบบดับเพลิงสปริงเกอร์ หรือเทียบเท่า มีระบบท่อยืน ท่อเก็บน้ำสำรอง หัวรับน้ำดับเพลิง ตู้หัวฉีดน้ำดับเพลิง ทุกชั้น
ตึกแถว ห้องแถว และอาคารอื่นๆ ที่เกิน 2 ชั้น
ควรมีถังดับเพลิง 1 เครื่องขนาดไม่น้อยกว่า 4 กิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตร และควรมีมากกว่า 1 เครื่องในแต่ละชั้น ระบบสัญญาณเตือนอย่างน้อย ชั้นละ 1 เครื่อง โดยประกอบด้วย ระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติ (Heat/Smoke Detector) ระบบแจ้งเตือนด้วยมือ (Manual call point) และระบบส่งสัญญาณเตือน (Fire alarm) ถ้าเป็นอาคารที่มีขนาดเล็กกว่าที่กล่าวมา ควรมีถังดับเพลิงขนาดไม่น้อยกว่า 3 กิโลกรัม อย่างน้อย 1 เครื่อง และสัญญาณเตือนเพลิงไหม้อย่างน้อย 1 เครื่อง
กฏหมายที่กล่าวมา เป็นเพียงข้อกำหนดขั้นต่ำเท่านั้น ซึ่งก่อนการติดตั้งระบบภายในอาคาร ควรประเมินความเสี่ยงอีกครั้ง ก่อนติดตั้ง เพื่อการป้องกันเพลิงไหม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Case Study เหตุการณ์ไฟไหม้อาคารพักอาศัย Grenfell Tower ในลอนดอน
Grenfell Tower เป็นอาคารพักอาศัย 24 ชั้น สูง 67 เมตร ซึ่งมีอายุกว่า 43 ปี โดยถูกเพลิงไหม้ในวันที่ 14 มิถุนายน 2560 ซึ่งในขณะเกิดเหตุผู้ที่อาศัยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตึกให้อยู่ในห้องของตนเองไว้ โดยไม่ได้ยินเสียงสัญญาณแจ้งเตือนไฟไหม้ (Fire Alarm) รวมถึงอาคารนี้ไม่ได้ถูกติดตั้งหัวฉีดดับเพลิงไว้ภายในด้วย
หลังจากปี 2556 อาคารแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น แต่กลับแฝงด้วยอันตรายที่แม้แต่ผู้อยู่อาศัยในอาคารเองก็เคยแจ้งไปกับเจ้าของตึกหลายครั้ง จนเกิดเหตุเพลิงไหม้ในที่สุด
หลังเหตุเพลิงไหม้ผลจากการตรวจสอบพบว่าอาคารนี้หลังจากการปรับปรุง มีการเพิ่มฉนวนความร้อนซึ่งประกอบไปด้วยแผ่น Aluminium Cladding ที่มีใส้กลางเป็นแกนโพลีเอธิลีน ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดติดไฟง่าย ทำให้เมื่อเกิดเหตุไฟสามารถลุกลามไปได้อย่างรวดเร็ว
เห็นหรือยังครับว่า การไม่มี ระบบดับเพลิงในอาคาร นั้นส่งผลเสียและความสูญเสียเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ การลงทุนเพื่อติดตั้ง Solution ดับเพลิงในสมัยนี้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากอย่างที่คิดและไม่ได้กินพื้นที่ในอาคารมากนัก เราลงทุนครั้งเดียวแต่ได้ระบบความปลอดภัยที่ดีในระยะยาว เพื่อรักษาทั้งชีวิตและทรัพย์สินเมื่อเกิดเพลิงไหม้ได้
สรุป
วัสดุ ส่วนประกอบ และสิ่งของภายในอาคารส่วนใหญ่เป็นวัตถุที่ติดไฟได้ อาคารบางที่เป็นสำนักงานที่มีระบบคอมพิวเตอร์ราคาแพง บางที่เป็นที่เก็บสารเคมีอันตราย เป็นห้องสมุด เป็นที่พักอาศัยซึ่งเมื่อเกิดเพลิงลุกไหม้ในอาคารเหล่านี้ ไฟจะสามารถลุกลามไปยังส่วนต่างๆ ของอาคารได้อย่างรวดเร็ว เมื่อไม่มีระบบดับเพลิงภายในอาคารจะส่งผลให้ผู้ที่อยู่ในอาคารไม่สามารถรับรู้ถึงเหตุอันตรายนี้ได้ ทำให้เกิดความสูญเสียได้ทั้งทรัพย์สินและเกิดอันตรายถึงชีวิตของบุคคลที่อยู่ในอาคารได้
ระบบดับเพลิงในอาคารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของอาคารควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรกถึงความปลอดภัยของผู้ที่อยู่ในอาคารเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ การส่งสัญญาณเตือนภัยและระบบควบคุมเพลิง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่แม้ว่าโอกาสเกิดเพลิงไหม้จะมีน้อย แต่ก็มีโอกาสเกิดและสร้างความเสียหายได้อย่างมาก
ถ้าอาคารของคุณต้องการระบบดับเพลิงต้องทำอย่างไร?
หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อาจจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบดับเพลิงในอาคาร หรือต้องการวางแผนติดตั้งระบบดับเพลิงให้กับอาคารของคุณ สามารถติดต่อเรา หรือคอมเมนต์พูดคุยได้ที่ข้างล่างบทความนี้ได้เลยครับ
ติดตาม Harn Engineering Solutions
เรามีบทความดีๆ และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์