ท่อทองแดง
บทที่ 3 : ท่อทองแดง Type L คืออะไร
เรามักจะเคยได้ยินหรือเคยเห็น Specification ใน TOR ของท่อทองแดงที่ใช้ในระบบปรับอากาศมากมายหลายโครงการที่ระบุให้ใช้ท่อทองแดง Type L กัน ท่านเคยสงสัยไหมครับว่ามันคืออะไร บทความนี้จะอธิบายให้ฟังว่าท่อทองแดง Type L คืออะไร และมีที่มาอย่างไร
ท่อทองแดง Type L นั้นถูกบัญญัติโดยมาตรฐาน ASTM B88 ของอเมริกา ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้กำหนดคุณลักษณะของท่อทองแดงที่ใช้เป็นระบบท่อน้ำและรวมไปถึงท่อที่ใช้กับของไหลอื่นๆ ซึ่งครอบคลุมถึงท่อน้ำยาในระบบปรับอากาศและระบบทำความเย็นด้วย มาตรฐาน ASTM B88 กำหนดความหนาของท่อทองแดงไว้ 3 ระดับ คือ Type K, Type L และ Type M โดยที่ Type K จะหนาที่สุด, Type L หนารองลงมา, และ Type M จะบางที่สุด ในอดีตสมัยที่ระบบปรับอากาศยังใช้น้ำยา R22 เราจะนิยมใช้ท่อ Type M กันเพราะความดันน้ำยา R22 นั้นไม่สูงมาก ใช้เพียงท่อ Type M ก็เพียงพอ แต่ปัจจุบันเราเปลี่ยนมาใช้น้ำยา R410a และ R32 แทนเพื่อลดค่า GWP (Global Warming Potential) เราจึงหันมาใช้ท่อ Type L แทนเพราะน้ำยา R410a และ R32 มีความดันที่สูงกว่า R22 พอสมควร
การเรียกความหนาแบบ Type K, Type L หรือ Type M นั้นใช้ระบุความหนาได้กับท่อทองแดงทุกลักษณะการขึ้นรูป (Form) และทุกระดับความแข็ง (Temper) ดังตารางด้านล่าง ซึ่งตัว Type L ที่ท่อตรงแบบ Hard Drawn ในตารางจะเขียนเป็นตัวอักษรสีแดง เพราะต้องการสื่อว่า TOR ของโครงการก่อสร้างต่างๆในประเทศไทยนิยมระบุว่าท่อทองแดงให้ใช้เป็นท่อตรง Hard Drawn Type L
ASTM B88 กำหนดความหนาของท่อทองแดงไว้ดังตารางต่อไปนี้
จากตารางด้านบนมีข้อน่าสนใจ 2 ประการ คือ
1) ไม่ว่าความหนาจะเป็น Type K, Type L หรือ Type M จะมีค่า Outside Diameter เท่ากัน ฉะนั้นค่า Inside Diameter จะต่างกัน ท่อที่มีความหนามากกว่าจะมีช่องว่างให้น้ำยาไหลภายในท่อน้อยลง แต่ท่านไม่ต้องกังวลถึงประเด็นนี้เพราะเป็นปัจจัยเล็กน้อยและผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศได้คำนวณและทดสอบมาให้เราแล้วว่าเราสามารถเดินท่อน้ำยาได้ไกลเท่าไรถ้าใช้ท่อ Type L แต่ที่จะพูดถึงประเด็นนี้ก็เพียงจะบอกว่าไม่ว่าจะใช้ท่อ Type M หรือ Type L หรือ Type K ก็จะใช้ฉนวนที่มี Inside Diameter เท่ากัน เพราะท่อทุก Type มี Outside Diameter เท่ากันนั่นเอง
2) การเรียกขนาดท่อเป็น Nominal Size (หรือเรียกว่า Standard Size ก็ได้) ตามมาตรฐาน ASTM B88 นั้น จะมีตัวเลขเท่ากับ Outside Diameter ลบด้วย 1 หุน (หรือ 1/8”) เช่นท่อขนาด Nominal Size 1” จะมี Outside Diameter เท่ากับ 1-1/8” , ท่อขนาด 1-1/4” จะมี Outside Diameter เท่ากับ 1-3/8”
การที่ ASTM B88 เรียกขนาดท่อแบบ Nominal Size ซึ่งไม่เท่ากับ Outside Diameter นั้นจึงอาจสร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้งานได้ เพราะเมื่อนำเวอร์เนียร์มิเตอร์ไปวัด Outside Diameter จะพบว่าไม่ตรงกับขนาดท่อที่ระบุเป็น Nominal Size ฉะนั้นทุกท่านจะต้องพึงระวังให้ดีว่าตัวเลขที่พิมพ์อยู่ที่ผิวท่อนั้นเป็น Nominal Size หรือเป็น Outside Diameter กันแน่ เพราะโรงงานผู้ผลิตท่อทองแดงสามารถพิมพ์ขนาดท่อที่ผิวท่ออกมาเป็นแบบใดก็ได้ขึ้นอยู่กับการตกลง
อย่างไรก็ดี ในการพูดคุยสื่อสารระหว่างผู้เกี่ยวข้องต่างๆในวงการ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ติดตั้ง ผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน จะพูดคุยกันเป็น Outside Diameter อยู่แล้วเพราะรากฐานข้อมูลที่มาจากผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศจะระบุขนาดท่อใน Catalog เป็น Outside Diameter โดยที่เขาคำนวณและทดสอบเครื่องปรับอากาศของเขามาแล้วบนขนาดท่อตามที่ระบุเป็น Outside Diameter และความหนาที่แนะนำ
อนึ่งคำว่า Nominal นั้นคนไทยอาจจะไม่เข้าใจว่าแปลว่าอะไร แต่ถ้าพูดถึงคำว่า Nominee จะเข้าใจทันทีว่าหมายถึงตัวแทน ทั้งสองคำมีรากศัพท์เดียวกัน ฉะนั้น Nominal Size จึงหมายถึงขนาดที่เป็นค่าตัวแทน ซึ่ง ASTM B88 บัญญัติให้ว่าเท่ากับ Outside Diameter ลบด้วย 1 หุน
บทความนี้คงจะต้องจบลงตรงนี้ก่อนเพราะเนื้อหาพอสมควรแล้ว โอกาสหน้าเราจะลงบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับท่อทองแดงเพิ่มขึ้น หวังว่าท่านจะได้โปรดติดตาม
ติดตาม Harn Engineering Solutions
เรามีบทความดีๆ และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์