หลังจากทำความรู้จักความเป็นมาของระบบปรับอากาศ VRF ในบทความแรกกันแล้ว วันนี้มาทำความรู้จักประเภทของคอยล์ร้อน (CDU) และวิธีการเลือกใช้คอยล์ร้อน (CDU) ของระบบปรับอากาศแบบ VRF กันครับ
คอยล์ร้อน หรือ Condensing Unit (CDU) นั้น บางครั้งในภาษาไทยนอกจากจะเรียกว่าคอยล์ร้อนแล้ว ก็เรียกว่าเครื่องระบายความร้อนก็ได้ และส่วนมากแล้วคนในวงการเครื่องปรับอากาศมักจะเรียกทับศัพท์ว่าคอนเด็นซิ่งยูนิท หรือ CDU ไปเลย บางครั้งเราจะได้ยินผู้ใช้งานทั่วไปเรียกคอนเด็นซิ่งยูนิทว่า คอมเพรสเซอร์ ซึ่งการเรียกแบบนี้ถือว่าไม่ถูกต้องนะครับเพราะคอมเพรสเซอร์เป็นแค่อุปกรณ์ชิ้นหนึ่งภายในคอนเด็นซิ่งยูนิทเท่านั้นเอง ต่อไปนี้จะขอเรียกคอยล์ร้อนว่า คอยล์ร้อน (CDU) นะครับเพราะเป็นคำที่คนในวงการนิยมใช้เรียกกัน
ประเภทของ คอลย์ร้อน (CDU) ในระบบปรับอากาศประเภท VRF
คอยล์ร้อน (CDU) ในระบบ VRV/VRF นั้นถ้าแบ่งตามลักษณะทิศทางการระบายความร้อนแล้วจะมีให้เลือก 2 แบบ คือ แบบเป่าขึ้นและแบบเป่าข้าง เรามาลงรายละเอียดกันทีละแบบนะครับ
ประเภทแรก คอลย์ร้อน (CDU) รุ่นเป่าขึ้น
คอยล์ร้อน (CDU) แบบนี้ จะดูดลมจากบรรยากาศเข้าด้านข้างเพื่อให้เข้าไประบายความร้อนให้แผงคอยล์แล้วเป่าลมร้อนขึ้นด้านบน ขนาดเครื่องจะหนาประมาณ 75 ซม. ความสูงจะอยู่ที่ประมาณ 170 ซม. ความกว้างมีหลายขนาดตั้งแต่ 95 ซม. ถึง 160 ซม. ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำความเย็น (Btu/h) เราจะเรียก 1 เครื่องว่า 1 โมดูล เพราะว่าเราสามารถเอาแต่ละโมดูลมาต่อพ่วงกันได้เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำความเย็น (Btu/h) เราสามารถต่อพ่วงกันได้สูงสุด 4 โมดูล การต่อพ่วงกันเป็นหน้าที่ของผู้ติดตั้งที่หน้างานที่จะใช้ท่อทองแดงเดินเชื่อมแต่ละโมดูลเข้าหากัน เมื่อต่อทุกโมดูลเข้าหากันแล้วเราจะเรียกว่า 1 System การที่แต่ละโมดูลมีความสูงและความหนาเท่ากัน เมื่อนำมาเรียงต่อกันเป็นแถวจะทำให้เกิดความเรียบร้อยสวยงาม
คอยล์ร้อน (CDU) 1 System อาจประกอบไปด้วย 1 โมดูล 2 โมดูล 3 โมดูลหรือ 4 โมดูลก็ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ โดย คอยล์ร้อน (CDU) 1 โมดูลมีขนาดให้เลือกตั้งแต่ 76,000 Btu/h ถึง 273,000 Btu/h ถ้านำโมดูลขนาด 273,000 Btu/h มาต่อพ่วงกัน 4 โมดูล จะทำให้ได้ขนาดความสามารถในการทำความเย็นสูงสุดอยู่ที่ 1,092,000 Btu/h (ทั้งนี้อ้างอิงตามข้อมูลของผลิตภัณฑ์ Hisense) ระบบไฟฟ้าที่ใช้กับคอยล์ร้อน (CDU) แบบเป่าขึ้นนี้จะใช้ไฟ 380 โวลท์ 3 เฟส คอยล์ร้อน (CDU) รุ่นเป่าขึ้นจะมีพัดลมระบายความร้อนที่มีแรงดันลมสูงทำให้สามารถระบายลมร้อนออกจากตัวเครื่องได้ดีกว่าคอยล์ร้อน (CDU) รุ่นเป่าข้าง
ประเภทที่สอง คอยล์ร้อน (รุ่นเป่าข้าง)
คอยล์ร้อน (CDU) แบบนี้จะดูดลมจากด้านหลังเพื่อระบายความร้อนให้แผงคอยล์ร้อนและเป่าลมร้อนออกมาด้านหน้า ขนาดเครื่องจะหนาประมาณ 35-40 ซม. ความสูงจะอยู่ที่ 80 – 170 ซม. ความกว้างอยู่ที่ประมาณ 90-110 ซม. ความสามารถในการทำความเย็นจะมีขีดจำกัด ขนาดใหญ่สุดมีถึงแค่ 110,000 Btu/h เท่านั้นและไม่สามารถต่อพ่วงกันได้ ขนาดเล็กสุดอยู่ที่ 42,000 Btu/h ซึ่งสามารถต่อคอยล์เย็นได้สูงสุด 8 เครื่อง
ระบบไฟฟ้าที่ใช้กับคอยล์ร้อน (CDU) แบบเป่าข้างจะมีให้เลือก 2 แบบ คือแบบไฟ 1 เฟส 220 โวลท์ จะมีขนาด 42,000 47,000 และ 52,000 Btu/h ให้เลือก
อีกแบบคือใช้ไฟ 3 เฟส 380 โวลท์ จะมีขนาดให้เลือกหลากหลายกว่า คือ 42,000 47,000 52,000 76,000 95,000 และ 110,000 Btu/h
คอยล์ร้อน (CDU) แบบเป่าข้างทั้งหมดจะใช้พัดลมระบายความร้อนที่มีแรงดันลมต่ำ ทำให้ต้องพิจารณาสถานที่ติดตั้งให้ดีเพื่อให้มีการระบายลมร้อนได้ดี
แล้วเราจะเลือก คอยล์ร้อน (CDU) แบบเป่าขึ้นหรือแบบเป่าข้างดีล่ะท่านอาจจะมีคำถาม เราขอแนะนำแบบนี้ครับ
วิธีการเลือกใช้คอยล์ร้อน (CDU) ของระบบปรับอากาศแบบ VRF
ถ้าเป็นงานที่มีพื้นที่ติดตั้งคอยล์ร้อน CDU จำกัด เช่น คอนโดมิเนียม แนะนำให้พิจารณาใช้รุ่นเป่าข้างเพราะขนาดเครื่องมีความบางเหมาะกับการติดตั้งที่ระเบียง ประกอบกับขนาด Btu/h มีให้เลือกในช่วงน้อยๆด้วย แต่ถ้าเป็นคอนโดยูนิทใหญ่จำเป็นต้องใช้ Btu/h สูง ก็จำเป็นต้องใช้ CDU รุ่นเป่าขึ้นแทนแต่ต้องเตรียมพื้นที่ในการติดตั้ง CDU ให้เพียงพอเพราะ CDU รุ่นเป่าขึ้นมีความหนาเครื่องถึง 75 ซม. และยังต้องเผื่อพื้นที่ด้านหน้าเครื่องอีก 50 ซม.สำหรับให้ช่างสามารถ Service ได้
ถ้าเป็นงานบ้านก็สามารถเลือกได้ทั้งแบบเป่าขึ้นและแบบเป่าข้างแต่ให้พิจารณาในเรื่องของลมร้อนให้ดี ถ้าเลือกรุ่นเป่าข้างอาจมีปัญหาลมร้อนเป่าใส่คนที่เดินเล่นอยู่ในบริเวณนั้นและทำให้เกิดความรำคาญได้ถ้าติดตั้งคอยล์ร้อน (CDU) อยู่ในบริเวณที่คนเดินผ่านบ่อยๆ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วก็แนะนำให้เลือกคอยล์ร้อน (CDU) รุ่นเป่าขึ้นแทน แต่ต้องเตรียมพื้นที่ในการติดตั้งเพิ่มขึ้นเพราะตัวเครื่องมีความหนามากกว่า
ถ้าเป็นอาคารประเภทอื่นๆ เช่น สำนักงาน โรงแรม โรงงาน ก็มีแง่คิดในการพิจารณาเหมือนกัน ส่วนมากแล้ว คอยล์ร้อน (CDU) ที่เลือกใช้มักจะเป็นรุ่นเป่าขึ้นเพราะมีขนาด Btu/h ที่ใหญ่กว่ามากให้เลือก เหมาะสมกับความต้องการ Btu/h ของอาคาร
การติดตั้งคอยล์ร้อน (CDU) ให้พึงระวังเรื่องการระบายลมร้อนให้ดี เพราะถ้าลมร้อนไม่สามารถระบายออกสู่บรรยากาศได้และถูก คอยล์ร้อน (CDU) ดูดกลับมา ก็จะก่อให้เกิดปัญหาความสามารถในการทำความเย็นตกและปัญหาค่าไฟสูงขึ้นได้ เช่น ถ้าเลือกใช้ คอยล์ร้อน (CDU) รุ่นเป่าขึ้นและพบว่าด้านบนมีสิ่งกีดขวางก็จำเป็นที่ผู้ติดตั้งจะต้องติดตั้ง Hood ที่ด้านบนของคอยล์ร้อน (CDU) เพื่อปรับองศาการเป่าลมร้อนให้พ้นจากสิ่งกีดขวาง มิเช่นนั้นแล้วลมร้อนจะถูกคอยล์ร้อน (CDU) ดูดกลับมาได้
ส่วนคอนโดมิเนียมที่เลือกใช้รุ่นเป่าข้าง ให้พึงระวังว่าลมร้อนที่เป่าออกไปในแนวนอนอาจจะถูกคอยล์ร้อน (CDU) ที่อยู่ชั้นบนๆดูดลมร้อนกลับเข้าไปได้ กรณีนี้มักเกิดขึ้นกับคอนโดมิเนียมที่มีความสูงมากๆ เช่น 20 ชั้นขึ้นไปและมีการติดตั้งคอยล์ร้อน (CDU) ในแนวเดียวกันหมดถ้ามองในแนวดิ่ง เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า คอยล์ร้อน (CDU) รุ่นเป่าข้างจะมีพัดลมระบายความร้อนที่มีแรงดันลมไม่สูงนักทำให้ไม่สามารถเป่าลมร้อนออกไปได้ไกล และธรรมชาติของอากาศที่ร้อนจะลอยขึ้นเพราะอากาศร้อนจะเบากว่าอากาศเย็น คอยล์ร้อน (CDU) ที่อยู่ชั้นบนๆ จึงมีโอกาสที่จะดูดลมร้อนจากคอยล์ร้อน (CDU) ตัวล่างๆ เข้าไปได้
ในกรณีเช่นนี้จำเป็นที่จะต้องวางแผนตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบอาคาร และใช้โปรแกรม CFD (Computational Fluid Dynamics) เพื่อจำลองสภาวะการระบายความร้อนบนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก่อนที่จะลงมือสร้างอาคาร ถ้าผลการจำลองพบว่ามีลมร้อนย้อนกลับ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Hot Air Short Cycle ก็สามารถแก้ไขได้หลายวิธี เช่น เปลี่ยนตำแหน่งการติดตั้ง คอยล์ร้อน (CDU) ให้ไม่ตรงกันในแนวดิ่งเป็นจำนวนชั้นที่มากเกินไป หรือเปลี่ยนไปใช้คอยล์ร้อน (CDU) รุ่นเป่าขึ้นสำหรับบางพื้นที่ที่มีที่ติดตั้งเพียงพอ เพราะคอยล์ร้อน (CDU) รุ่นเป่าขึ้นจะใช้พัดลมที่มีแรงดันลมสูงจึงสามารถระบายลมร้อนออกไปได้ไกลจากตัวอาคารมาก เมื่อได้แนวทางแล้วจึงทำการจำลองด้วยโปรแกรม CFD ใหม่จนกว่าผลลัพธ์จะเป็นที่พึงพอใจ
ถ้าจะกล่าวถึงประเภทของคอยล์ร้อน (CDU) โดยพื้นฐานแล้วจะมีเพียงเท่านี้ แต่ความจริงแล้วยังมีคอยล์ร้อน (CDU) รุ่นพิเศษอีก ได้แก่ คอยล์ร้อน (CDU) รุ่น Anti-Corrosion สำหรับใช้ในกรณีที่โครงการของท่านอยู่ใกล้ทะเลหรือโรงงานสารเคมี เพราะถ้าท่านใช้คอยล์ร้อน (CDU) รุ่นธรรมดาก็อาจจะไม่สามารถทนต่อการกัดกร่อนของเกลือจากไอทะเลหรือสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรดที่อยู่ในอากาศที่ถูกปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรมได้ บางครั้งพบว่าใช้งานไปสัก 2-3 ปีก็ผุแล้ว
นอกจากนี้ยังมีคอยล์ร้อน (CDU) รุ่นพิเศษที่สามารถทำน้ำร้อนได้ ทำให้ประหยัดพลังงานอย่างมากเพราะระบบจะนำความร้อนที่เหลือทิ้งจากกระบวนการทำความเย็นไปใช้ในการผลิตน้ำร้อน
หวังว่าบทความนี้จะทำให้ท่านเข้าใจภาพรวมของคอยล์ร้อน (CDU) ในระบบ VRV/VRF มากขึ้นนะครับ คราวหน้าเราจะมาพูดคุยกันต่อในส่วนของคอยล์เย็นครับ แล้วพบกันครับ หรือหากท่านสนใจระบบปรับอากาศแบบ VRF เรามีทีมผู้เชี่ยวชาญให้บริการท่านครับ
ติดตาม Harn Engineering Solutions
เรามีบทความดีๆ และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์