หัวกระจายน้ำดับเพลิงไม่เพียงสามารถป้องกันชีวิตแต่ยังช่วยลดความสูญเสียของทรัพย์สินอันมีค่า ซึ่งในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงหรือสปริงเกอร์จะทำงานอัตโนมัติ โดยจะช่วยลดความร้อนอย่างรวดเร็ว และดับเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือช่วยลดความรุนแรงของเพลิงก่อนจะลุกลามไปยังจุดอื่นๆ จนยากจะควบคุมได้ จากการทดสอบอาคารที่ไม่มีระบบสปริงเกอร์ หากเกิดเพลิงไหม้จะเกิดความสูญเสียมากกว่าอาคารที่มีระบบสปริงเกอร์หลายเท่าตัว
ชนิดของหัวกระจายน้ำดับเพลิง
สปริงเกอร์ดับเพลิงมีหลากหลายชนิด ตามมาตรฐาน NFPA13 ได้มีการแบ่งประเภทสปริงเกอร์ไว้ถึง 14 แบบ เช่น ESFR, Extend Coverage Sprinkler, Large Drop Sprinkler, Convensional Sprinkler, Open Sprinkler, Standard Spray Sprinkler etc.
โดยแต่ละชนิดก็จะมีผลิตภัณฑ์อีกหลายแบบ แต่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอาคารทั่วไปเป็นแบบ Standard Spray Sprinkler, ½”orifice, K=5.6 ชนิดกะเปาะแก้ว Glass Bulb ทำงานโดยเมื่อเกิดความร้อนถึงอุณหภูมิของสปริงเกอร์ที่กำหนดไว้ โดยสีของกะเปาะแก้วจะบ่งบอกถึงอุณหภูมิทำงานของสปริงเกอร์ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล โดยในพื้นที่ทั่วไปมักจะติดตั้งสปริงเกอร์กะเปาะสีส้มหรือสีแดง ซึ่งจะทำงานที่อุณหภูมิ 135°F (57°C) หรือ 155°F (68°C)
แต่สำหรับพื้นที่อื่นๆ ที่อาจมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ เช่น ในห้องครัว ก็จะเลือกอุณหภูมิทำงานที่สูงกว่า เช่น 200°F (93°C) เป็นต้น นอกจากนั้นจะต้องเลือกรูปแบบการติดตั้งตามพื้นที่ เช่น แบบหัวคว่ำ (Pnedent), แบบหงาย (Up-right), แบบติดข้างผนัง (Side-wall) โดยผู้ออกแบบงานระบบจะสามารถคำนวณและดำเนินการออกแบบตามรูปแบบของอาคารได้
โดยหัวกระจายน้ำดับเพลิงหนึ่งตัวแบบมาตรฐานตาม NFPA 13 จะสามารถครอบคลุมพื้นที่ในอาคารที่มีความเสี่ยงภัยต่ำ (Light Hazard) ได้ไม่เกิน 200 ตารางฟุต โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง และหากเป็นอาคารที่มีความเสี่ยงภัยสูงปานกลาง (Ordinary Hazard) หรืออาคารที่มีความเสี่ยงภัยสูง (Extra Hazard) การออกแบบก็จะต้องลดจำนวนพื้นที่ลงเหลือ 130 ตารางฟุต และ 90 ตารางฟุตต่อตัวตามลำดับ และจะต้องติดตั้งครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งอาคาร โดยจะมีข้อยกเว้นในบางพื้นที่ที่ไม่ควรติดตั้ง เช่น ในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาล ห้องควบคุม ซึ่งอาจต้องติดตั้งระบบดับเพลิงประเภทอื่นๆ ทดแทน
ประโยชน์ของระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง
- ทำงานได้อัตโนมัติ เมื่อเกิดเพลิงไหม้
- ป้องกันอันตรายครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งอาคารหรือโรงงาน
- มีระบบกริ่งสัญญาณเตือนภัย เมื่อติดตั้งพร้อมวาล์วสัญญาณแจ้งเหตุ (Alarm Check Valve)
- ลดความร้อนและดับเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ลดความเสียหายรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน
อุปกรณ์ประกอบของระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง
- ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงหรือสปริงเกอร์จะทำงานอย่างได้อย่างสมบูรณ์แบบ จะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ดังนี้
- เครื่องสูบน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ (Fire Pump)
- วาล์วสัญญาณแจ้งเหตุ (Alarm Check Valve)
- วาล์วควบคุม (Floor Control Valve)
- ตัวจับสัญญาณการไหลของน้ำ (Water Flow Detector)
ส่วนประกอบของหัวกระจายน้ำดับเพลิง
- หัวกระจายน้ำดับเพลิงประกอบด้วยวัสดุหลักดังนี้
- ตัวผลิตภัณฑ์ (Frame)
- แผ่นกระจายน้ำ (Deflector)
- กระเปาะแก้ว (Bulb)
- ซีล (Seal/cap)
โดยหัวกระจายน้ำดับเพลิงรุ่นมาตรฐาน จะสามารถทนแรงดันใช้งานได้ถึง 250 psi. และผ่านการทดสอบแรงดันไม่น้อยกว่า 500 psi. และได้รับการรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้
หวังว่าท่านเจ้าของอาคารจะเห็นประโยชน์ของสปริงเกอร์ดับเพลิง และลงทุนติดตั้งระบบสปริงเกอร์ในอาคารของท่านเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินอันมีค่าของท่านเองครับ
เรียบเรียงโดย : คุณวิรัฐ สุขชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
ติดตาม Harn Engineering Solutions
เรามีบทความดีๆ และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์