เมื่อกล่าวถึงระบบ Fire Alarm หรือที่เรียกว่า ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ หลายท่านมักจะนึกถึงกระดึ่ง ไซเรน หรือไฟสัญญาณแจ้งเตือน ที่สามารถส่งเสียงเตือนภัยให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารสามารถอพยพออกจากพื้นเพียงอย่างเดียว
แท้จริงแล้วระบบ Fire Alarm ไม่ได้มีเพียงแค่อุปกรณ์ส่งสัญญาณแจ้งเตือนเพื่อให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารได้รับรู้เพียงอย่างเดียว ยังมีอุปกรณ์สำคัญอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกันเพื่อทำให้ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้นี้สามารถทำงานได้อย่างมีมาตรฐานเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ในอาคาร
ในบทความนี้จะช่วยให้ท่านที่เป็นเจ้าของอาคาร หรือผู้ที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัยของอาคาร ได้เข้าใจถึงความสำคัญของการติดตั้งระบบ Fire Alarm รวมถึงส่วนประกอบต่างๆ ของระบบ Fire Alarm ที่ช่วยลดการเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ในอาคาร
ระบบ Fire Alarm ในอาคารช่วยอะไรได้บ้าง
พฤติกรรมของมนุษย์ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่เพลิงกำลังลุกไหม้อาคาร เมื่อมองเห็นเปลวเพลิงหรือเห็นกลุ่มควันไฟขนาดใหญ่ จะเกิดอาการตื่นตระหนกจนคิดไม่ออกว่าจะต้องทำอย่างไร บางคนอาจจะพยายามวิ่งหนีออกจากพื้นที่จนได้รับการบาดเจ็บ บางคนอาจจะหมดสติเนื่องจากการสูดดมควันไฟจนก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ การติดตั้งระบบ Fire Alarm จึงเป็นสัญญาณหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ที่อยู่ในอาคารได้วางแผนและรับรู้เหตุการณ์อย่างรวดเร็ว เพื่อวางแผนการอพยพออกจากอาคารได้อย่างปลอดภัย
จากแผนภาพด้านบน เป็นทฤษฎีที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมทั่วไปของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสถานะการณ์ที่มีเหตุเพลิงไหม้
- ขั้นการรับรู้ เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดเพื่อให้ผู้ที่อยู่ในอาคารสามารถรับรู้ได้ว่ากำลังเกิดเพลิงไหม้ในอาคาร ถ้าไม่มีระบบ Fire Alarm จะทำให้พวกเขารู้ตัวได้ช้า ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อชีวิตได้
- ขั้นการประเมินสถานะการณ์ เป็นขั้นตอนที่จะประเมินความเสี่ยงถึงความรุนแรงของเพลิงไหม้ในอาคาร เช่น การค้นหาต้นเพลิง หรือการมองออกไปด้านนอกอาคารเพื่อดูว่ามีควันไฟจำนวนมากหรือไม่
- ขั้นตอนการตัดสินใจ เมื่อพบต้นเพลิงแล้วพวกเขามีความสามารถในการดับไฟหรือไม่ หรือควรรีบอพยพออกจากอาคารเนื่องจากเพลิงลุกไหม้เกินการควบคุมด้วยตนเอง
- ขั้นลงมือทำ หลังจากการตัดสินใจแล้วว่าจะดับต้นเพลิงด้วยตนเอง ก็เริ่มมองหาอุปกรณ์ดับเพลิงใกล้ตัว เช่น ถังฉีดน้ำดับเพลิง ตู้ดับเพลิง หรือตัดสินใจอพยพออกจากตัวอาคารตามทางหนีไฟ
ระบบ Fire Alarm ประกอบด้วยอุปกรณ์อะไรบ้าง
ระบบการทำงานของอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ โดยเริ่มที่อุปกรณ์ตรวจจับที่มีทั้งตรวจจับควันไฟ และตรวจจับความร้อน ก่อนที่จะส่งสัญญาณต่อไปยังอุปกรณ์ควบคุมการทำงานหลักเพื่อเปิดการทำงานของสัญญาณแจ้งเตือนภัยให้ผู้ที่อยู่ในอาคารรับรู้ถึงเหตุเพลิงไหม้และอพยพหนีไฟออกมาได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับระบบ Fire Alarm ในบทความนี้ได้แบ่งอุปกรณ์ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่ อุปกรณ์ควบคุมสัญญาณหลัก อุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณเพลิงไหม้ และอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ ให้เห็นภาพการทำงานร่วมกันของอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างชัดเจนขึ้น
1. อุปกรณ์ควบคุมสัญญาณหลัก
สำหรับอุปกรณ์ควบคุมสัญญาณหลัก มีหน้าที่ในการรับสัญญาณจากอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณเพลิงไหม้ที่ติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ของอาคาร ก่อนที่จะส่งสัญญาณต่อไปยังอุปกรณ์ส่งสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ให้ทำงาน มีลักษณะเป็นตู้ที่เรียกว่า ตู้ควบคุมสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm Control Panel: FCP) โดยตู้ควบคุมนี้จะประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก เพื่อทำงานร่วมกับอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ทั้งหมดในอาคาร
1.1 อุปกรณ์ควบคุมหลัก (Control Panel) ทำหน้าที่ควบคุมระบบการทำงานของ Fire Alarm ทั้งหมด ซึ่งสามารถบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดออกทางจอแสดงผล และสามารถสั่งพิมพ์ออกมาเป็นเอกสารได้
1.2 อุปกรณ์จ่ายไฟสำรอง (Battery Backup) การทำงานของตู้ควบคุมเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้หรือระบบไฟฟ้าขัดข้องจะมีอุปกรณ์สำหรับจ่ายไฟสำรองเพื่อให้ตู้ควบคุมสามารถทำงานต่อไปได้ นอกจากนี้อุปกรณ์จ่ายไฟสำรองยังทำหน้าที่จ่ายไฟสำรองไปยังอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ทั้งหมดในอาคารด้วย
2. อุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณเพลิงไหม้
เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่นอกตู้ควบคุมสัญญาณหลัก ซึ่งติดตั้งกระจายอยู่ในบริเวณต่างๆ ของอาคาร โดยมีการเชื่อมต่อด้วย สายสัญญาณ (Loop Signal) ให้ส่งข้อมูลกลับไปยังตู้ควบคุมสัญญาณหลักเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ และรับกระแสไฟฟ้าจากอุปกรณ์จ่ายไฟสำรอง (Battery Backup) ในกรณีที่กระแสไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟหลักดับ
2.1 อุปกรณ์ตรวจจับ (Detector Equipment)
เป็นอุปกรณ์ต้นทางที่ทำหน้าที่ตรวจจับสัญญาณการเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งอุปกรณ์ตรวจจับจะมีชนิดที่แตกต่างกันตามลักษณะของสิ่งที่ต้องการตรวจจับ แบ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจจับควัน อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน และอุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟ
อุปกรณ์ตรวจจับควัน (Smoke Detector)
เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ตรวจจับอนุภาคของควันไฟแบบอัตโนมัติ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ในระยะแรกใหญ่มักจะมีควันเกิดขึ้นก่อน ธรรมชาติของควันไฟจะลอยขึ้นสู่ที่สูงเมื่อลอยเข้าไปในเครื่องตรวจจับควันไฟ อนุภาคของควันไฟจะเข้าไปกีดขวางวงจรไฟฟ้า หรือระบบแสงในวงจรตามชนิดของเครื่องตรวจจับควันไฟ เมื่อถึงค่าที่เกินกว่ากำหนดอุปกรณ์ตรวจจับจะส่งข้อมูลกลับไปที่ตู้ควบคุมเพื่อเปิดสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้
อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน (Heat Detector)
เป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณแจ้งเตือนผิดพลาด (Fault Alarm) น้อยที่สุดในปัจจุบัน การทำงานของอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนคือ เมื่ออุณหภูมิรอบข้างของเครื่องตรวจจับเพิ่มสูงขึ้นไปจนเกินค่าที่กำหนด อุปกรณ์ภายในเครื่องตรวจจับจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ก่อนที่จะส่งข้อมูลไปยังตู้ควบคุมเพื่อส่งสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้
อุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟ (Flame Detector)
อุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟส่วนใหญ่มักจะถูกติดตั้งในพื้นที่อันตรายหรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้สูง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม คลังจ่ายน้ำมัน เนื่องจากเป็นบริเวณที่เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้วจะเกิดควันไฟน้อย แต่มีโอกาสการเกิดระเบิดรุนแรง หรือการลุกลามของเปลวไฟอย่างรวดเร็ว ซึ่งการทำงานของอุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟนี้จะดักจับความถี่คลื่นแสงในย่านอุลตร้าไวโอเลตและอินฟราเรด ที่แผ่ออกมาจากเปลวไฟเท่านั้น
2.2 อุปกรณ์รับสัญญาณ (Monitor Module)
อุปกรณ์นี้ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ที่รับสัญญาณจากอุปกรณ์ตรวจจับ อุปกรณ์นี้จะรับเอาสัญญาณมาแล้วทำการส่งสัญญาณไปยังตู้ควบคุมหลัก เพื่อส่งสัญญาณต่อไปยังอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ให้เริ่มทำงาน
3. อุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Notification Appliance)
หลังจากตู้ควบคุม (FCP) ได้รับสัญญาณการเกิดเพลิงไหม้จากอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณแล้ว ตู้ควบคุมจะสั่งการให้อุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Notification Appliance) ให้ทำงาน ได้แก่ กระดิ่ง, ไซเรน, ไฟสัญญาณ เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในอาคารได้รับรู้ถึงเหตุที่เกิดขึ้นและอพยพออกจากอาคารได้ทันที
นอกจากนี้แล้วสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ยังมีอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งใช้คนในการเปิดอุปกรณ์เริ่มสัญญาณ (Manual Pull Station) โดยอุปกรณ์นี้จะติดตั้งอยู่ในบริเวณที่สังเกตเห็นได้ง่าย ผู้ที่พบเห็นเหตุเพลิงไหม้สามารถดึงหรือทุบกระจก เพื่อส่งสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ให้ผู้ที่อยู่ในอาคารได้ทราบ
สรุป
การติดตั้ง Fire Alarm ก็เหมือนมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ คอยรักษาความปลอดภัยให้กับอาคารและผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารอยู่ตลอดเวลา เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้การทำงานของระบบ Fire Alarm จะทำงานเพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยให้ผู้ที่อยู่ในอาคารได้ทราบ เพื่อเตรียมการอพยพหรือระงับเหตุได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ลดอัตราการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุเพลิงไหม้ได้มากขึ้น
ถ้าคุณยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติม เกี่ยวกับระบบ Fire Alarm หรือต้องวางแผนและติดตั้งระบบดับเพลิงในอาคารของคุณ ติดต่อเราได้ที่นี่ เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบดับเพลิงที่คอยให้คำปรึกษากับคุณได้อย่างเต็มที่
ติดตาม Harn Engineering Solutions
เรามีบทความดีๆ และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์