ท่อทองแดง
บทที่ 2 : มาตรฐาน ASTM B88 สำหรับท่อทองแดงที่ใช้ในระบบปรับอากาศ
ท่อทองแดงที่ใช้ในระบบปรับอากาศในประเทศไทยมักอ้างอิงมาตรฐาน ASTM ซึ่งเป็นมาตรฐานของอเมริกา (ASTM ย่อมาจาก American Society for Testing and Materials ) โดยที่มาตรฐาน ASTM ตัวที่เรามักอ้างอิงนั้นคือมาตรฐาน ASTM B88 บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกันครับว่ามาตรฐาน ASTM B88 นั้นมีรายละเอียดเป็นอย่างไร
จากเอกสารของ ASTM ระบุว่า ASTM B88 เป็นมาตรฐานที่ใช้กำหนดคุณลักษณะของท่อทองแดงไร้ตะเข็บสำหรับใช้ในระบบท่อน้ำทั่วไปรวมถึงระบบที่ใช้ของไหลอื่น และใช้ Fitting ที่เป็นแบบเชื่อม (soldering), แบบแฟลร์ (Flare) หรือแบบกด (Compression type)
ในบ้านเราจะนิยมเอามาตรฐาน ASTM B88 มาใช้ในการกำหนดคุณลักษณะของท่อทองแดงที่ใช้ในระบบปรับอากาศและระบบทำความเย็นซึ่งก็ถือว่าครอบคลุม เพราะมาตรฐานนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะกับท่อน้ำเท่านั้น
ท่อทองแดงตามมาตรฐาน ASTM B88 จะมีการแบ่งลักษณะของท่อทองแดงในหลายแง่มุม ซึ่งแง่มุมใหญ่ๆนั้นได้ได้แก่การแบ่งตามความแข็ง (Temper), ความหนา (Thickness), และการขึ้นรูป (Form)
การแบ่งตามความแข็ง (Temper) นั้น ถ้าอ้างอิงตามมาตรฐาน ASTM B88 ปี 2009 นั้นจะมี 2 ระดับ ได้แก่ Hard Drawn (แข็ง) กับ Annealed (นิ่ม) แต่อย่างไรก็ดีในการผลิตจริงนั้นสามารถผลิตแบบที่ 3 ได้ด้วย ได้แก่แบบ Half Hard หรือ บางครั้งเรียกว่า Semi Hard ซึ่งหมายถึงแบบกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง
ASTM B88 ระบุว่าท่อ Annealed สามารถใช้กับ Fitting ได้หลายรูปแบบ ได้แก่ แบบ Flare, แบบ Compression และแบบเชื่อม ส่วนท่อ Hard Drawn นั้นจะเหมาะที่จะใช้กับ Fitting แบบเชื่อมมากกว่าแบบอื่น แต่ก็มิใช่ว่าจะใช้กับ Fitting แบบ Flare และแบบ Compression ไม่ได้ เพียงแต่ว่ามันจะมีความยากเพิ่มขึ้นหน่อยเพราะท่อมีความแข็งจึงทำให้การบาน Flare ทำได้ยาก ส่วน Fitting แบบ Compress นั้นให้ตรวจสอบกับผู้ผลิตให้ดีว่าสามารถใช้กับท่อ Hard Drawn ได้หรือไม่
การขึ้นรูป (Form) จะมี 2 แบบ ได้แก่ แบบท่อตรงและแบบท่อม้วน โดยที่แบบท่อตรงนั้นสามารถเลือกได้ว่าจะให้เป็นแบบ Hard Drawn, Semi Hard หรือแบบ Annealed ในบ้านเราจะนิยมใช้ท่อตรงแบบ Hard Drawn เป็นหลักแต่ก็เริ่มมีแนวความคิดที่จะนำท่อ Semi Hard เข้ามาใช้แทนที่เพราะสามารถดัดได้จึงช่วยลดรอยเชื่อมในส่วนนี้ได้เพราะท่อ Hard Drawn นั้นดัดไม่ได้ ต้องใช้ข้องอ 90 องศาหรือ 45 องศามาเชื่อมเท่านั้น
ส่วนท่อม้วนนั้นจะมีให้เลือกแบบเดียวคือแบบ Annealed เพราะการจะขดท่อเป็นวงนั้นทางโรงงานจะต้องใช้ท่อทองแดงที่เป็นแบบนิ่มมาขดถึงจะขดได้ง่ายกว่า
การแบ่งตามความหนา (Thickness) จะมี 3 ชนิด (Type) ได้แก่ Type K, Type L และ Type M โดยที่ Type K นั้นจะมีความหนามากที่สุด รองลงมาคือ Type L และบางสุดคือ Type M ในอดีตสมัยที่ระบบปรับอากาศยังใช้น้ำยา R22 เราจะนิยมใช้ท่อ Type M กันเพราะแรงดันน้ำยา R22 นั้นไม่สูงมาก แต่ปัจจุบันเราเปลี่ยนมาใช้น้ำยา R410a และ R32 ทดแทน เราจึงหันมาใช้ท่อ Type L แทนเพราะน้ำยา R410a และ R32 มีแรงดันที่สูงกว่า R22 พอสมควร
บทความนี้เป็นการให้รายละเอียดสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานในบ้านเรา หวังว่าท่านจะได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อย และอย่าลืมติดตามอ่านบทความของเราต่อนะครับ เราจะมีข้อมูลดีๆเกี่ยวกับท่อทองแดงมาฝากอีกเรื่อยๆ
Subscribe to our newsletter
Subscribe to our weekly newsletter to get update to your inbox!