
ในประเทศไทยเรามักจะเห็น Specification ใน TOR ของระบบปรับอากาศในโครงการต่างๆระบุให้ใช้ท่อทองแดงชนิดท่อตรง Hard Drawn ตามมาตรฐาน ASTM B88 แต่ท่านทราบหรือไม่ว่ามาตรฐาน ASTM B88 นั้นครอบคลุมท่อทองแดงที่มีขนาดเล็กสุดที่เส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 3/8” เท่านั้น มิได้ครอบคลุมลงไปถึงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 1/4” แต่อย่างใด และในทางปฏิบัติเราก็มีการใช้ท่อทองแดงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 1/4” เยอะด้วย ถามว่าเยอะแค่ไหน ก็ต้องตอบว่าเยอะมาก เพราะว่า Fancoil Unit ที่ใช้น้ำยา R410a และน้ำยา R32 ทั้งในระบบแอร์ VRF (หรือ VRV) และระบบแอร์ Split Type ที่มีขนาดไม่เกิน 20,000 Btu/h จะใช้ท่อ Liquid ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 1/4” และ Fancoil Unit ขนาดไม่เกิน 20,000 Btu/h นั้นก็เป็นที่นิยมใช้ในแทบทุกโครงการ
คำถามคือ ท่อทองแดงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 1/4” ที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยนั้นถ้าไม่ได้ผลิตตามมาตรฐาน ASTM B88 แล้วนั้น มันผลิตตามมาตรฐานอะไร คำตอบคือมาตรฐาน ASTM B280 ครับ ในมาตรฐาน ASTM B280 จะพูดถึงทั้งท่อตรงและท่อม้วน โดยที่ท่อตรงนั้นจะครอบคลุมลงไปถึงขนาดท่อทองแดงที่เล็กที่สุดคือขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 3/8” แต่ท่อม้วนจะครอบคลุมลงไปถึงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 1/8” เลย ฉะนั้นแล้วท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 1/4“ จึงมีแค่แบบท่อม้วนเท่านั้น ไม่มีแบบท่อตรง และท่อม้วนนี้ก็ผลิตตามมาตรฐาน ASTM B280
ในประเทศไทยเรามักจะใช้ “ท่อม้วน” ที่ผลิตตามมาตรฐาน ASTM B280 ขนาดตั้งแต่เส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 1/4″ จนถึง 3/4” และใช้ “ท่อตรง” ที่ผลิตตามมาตรฐาน ASTM B88 หรือมาตรฐาน ASTM B280 สำหรับท่อทองแดงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกตั้งแต่ 3/8” จนถึง 2-1/8” มาถึงจุดนี้ท่านอาจจะมีคำถามว่า มาตรฐาน ASTM B280 คืออะไรและแตกต่างจากมาตรฐาน ASTM B88 อย่างไร
มาตรฐาน ASTM B280 นั้นเป็นมาตรฐานใช้กำหนดคุณสมบัติของท่อทองแดงที่ใช้ในระบบปรับอากาศและระบบทำความเย็นโดยเฉพาะ ในขณะที่มาตรฐาน ASTM B88 จะใช้กำหนดคุณสมบัติของท่อทองแดงที่ใช้ในระบบท่อน้ำเป็นหลัก (Plumbing System) แต่ก็ครอบคลุมไปถึงท่อทองแดงที่ใช้กับของไหลชนิดอื่นๆด้วย เช่น สารทำความเย็นในระบบปรับอากาศและระบบทำความเย็น ถามว่ามาตรฐาน ASTM B88 ได้กำหนดคุณสมบัติของท่อม้วนไว้มั๊ย คำตอบคือได้กำหนดไว้ครับ แต่ขนาดท่อม้วนที่เล็กสุดที่พูดถึงในมาตรฐาน ASTM B88 ก็มีถึงแค่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 3/8” เท่านั้น เพราะมาตรฐาน ASTM B88 จะเน้นการใช้งานท่อทองแดงสำหรับระบบน้ำ (Plumbing System) เป็นหลักซึ่งท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 3/8” ก็ถือว่าเล็กมากแล้วสำหรับระบบแจกจ่ายน้ำ ในขณะที่มาตรฐาน ASTM B280 ได้กำหนดขนาดท่อม้วนลงไปถึงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 1/8” เลยทีเดียวเพราะเป็นมาตรฐานที่ Focus ไปที่ระบบปรับอากาศและระบบทำความเย็นโดยเฉพาะ
มาตรฐานทั้งสองนั้นมีวิธีการเรียกขนาดท่อทองแดงแตกต่างกัน ซึ่งทุกท่านต้องพึงระวังให้ดี กล่าวคือ มาตรฐาน ASTM B280 นั้นจะเรียกขนาดท่อ (Standard Size) ตามขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกเลย ในขณะที่มาตรฐาน ASTM B88 จะเรียกขนาดท่อ (Standard Size หรือ Nominal Size) โดยเอาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกลบด้วย 1 หุน
สำหรับเรื่องของความหนานั้น ทั้งสองมาตรฐานจะมีวิธีการกำหนดที่แตกต่างกัน ดังนี้ มาตรฐาน ASTM B88 จะจำแนกความหนาออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ Type M, Type L และ Type K โดยที่ Type M จะบางที่สุด และ Type K จะหนาที่สุด ในขณะที่มาตรฐาน ASTM B280 นั้น จะกำหนดความหนาสำหรับอ้างอิงมาแค่ระดับเดียว ไม่มีคำว่า Type M, Type L หรือ Type K ในการผลิตนั้นโรงงานสามารถผลิตความหนาออกมาได้หลายระดับขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ซื้อและก็ยังคงได้คุณภาพตามมาตรฐาน ASTM B280 วิธีการเรียกระดับความหนาในตลาดนั้นนิยมเรียกโดยอ้างอิงตาม Standard Wire Gauge หรือเรียกย่อๆว่า SWG โดยที่ SWG กำหนดขนาดความหนาของท่อทองแดงไว้ ดังนี้
SWG No. 20 หมายถึงความหนา 0.91 มม.
SWG No. 21 หมายถึงความหนา 0.81 มม.
SWG No. 22 หมายถึงความหนา 0.71 มม.
SWG No. 23 หมายถึงความหนา 0.61 มม.
SWG No. 24 หมายถึงความหนา 0.56 มม.
ในโครงการที่ใช้ระบบปรับอากาศ VRF (หรือ VRV) นั้นในทางปฏิบัติแล้วจะไม่ได้ใช้ท่อตรงแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะใช้ท่อม้วนผสมด้วย โดยท่อม้วนจะใช้บริเวณจุดที่จะต่อเข้า Fancoil Unit เพราะมีคุณสมบัติที่ดีกว่าท่อตรงหลายประการ ได้แก่ มีความอ่อนสามารถดัดได้ง่ายเพื่อให้สามารถเดินท่อเข้าไปบรรจบกับจุดเชื่อมต่อของ Fancoil Unit ได้ง่าย, สามารถบานแฟลร์ได้ง่ายกว่าท่อตรงเพราะเนื้อท่อมีความนิ่มกว่าและจุดเชื่อมต่อที่ Fancoil Unit เตรียมไว้มักใช้วิธีต่อแบบแฟลร์นัท, ช่วยรองรับการยืดหดตัวของระบบท่อทองแดงอันเนื่องจากอุณหภูมิที่แปรเปลี่ยนได้เนื่องจากท่อมีความอ่อน, สามารถรองรับการสั่นสะเทือนของ Fancoil Unit ขณะทำงานได้ และอีกเหตุผลหนึ่งที่ใช้ท่อม้วนก็คือถ้าต้องใช้ท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 1/4” ก็มีเพียงท่อม้วนตามมาตรฐาน ASTM B280 เท่านั้นที่มีให้เลือก
สำหรับโครงการที่ใช้ระบบปรับอากาศแบบ Split Type นั้นก็มักจะใช้ท่อม้วนเพราะมีความสะดวกไม่ต้องเชื่อม (Soldering) เพราะท่อม้วนเมื่อคลี่ออกมาจะมีความยาว 15 เมตร ในขณะที่ท่อตรงจะมีความยาวเพียงแค่ 5.8 เมตร (หรือ 6.0 เมตร) เท่านั้น ถ้าต้องเดินท่อไกลกว่า 5.8 เมตร (หรือ 6.0 เมตร) ก็จะต้องมีงานเชื่อม (Soldering) เพิ่มขึ้นมา อย่างไรก็ดีบางครั้งถ้าเป็นงานที่ต้องการความสวยงาม เช่นงานที่ไม่มีฝ้า มักจะเลือกใช้เป็นท่อตรงเพราะมีความตรงดูสวยงามกว่า
บทความนี้ต้องขอจบแต่เพียงเท่านี้ก่อน หวังว่าท่านจะเริ่มรู้จักมาตรฐาน ASTM B280 ว่าคืออะไรและแตกต่างจากมาตรฐาน ASTM B88 อย่างไร โอกาสหน้าเราจะมาเพิ่มเติมข้อมูลให้ท่านอีก ขอได้โปรดติดตามตอนต่อไป
Subscribe to our newsletter
Subscribe to our weekly newsletter to get update to your inbox!