HARN กับชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ร่วมมือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนาม MOU โครงการวิจัยการประเมินการกักเก็บคาร์บอนและสมดุลการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของระบบนิเวศป่าเต็งรังด้วยการสำรวจระยะไกล ภายใต้ชื่อ “โครงการวนภา” โดยเน้นหลักการพัฒนาเพื่อตรวจวัด จัดทำบัญชีคาร์บอน และการประเมินคาร์บอนเครดิตจากป่าธรรมชาติ ทั้งส่วนบนดินและส่วนใต้ดิน ด้วยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล และการประเมินภายใต้มาตรฐานระดับ Tier – 3 เพื่อติดตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าจากพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซากในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จ.ลำพูน
พิธีการลงนาม MOU จัดขึ้น ณ วันที่ 9 กันยายน 2567 ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานในพิธี และลงนามในบันทึกความร่วมมือ กับคุณเจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล คุณดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความเป็นกลางทางคาร์บอน รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร. นรงค์ ฉิมพาลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คุณปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ คุณชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ – การบริหารความยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) คุณวรายุทธ เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด คุณธรรมนูญ ตรีเพ็ชร และคุณเจน ชาญณรงค์ กรรมการบริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
สำหรับการลงนามในครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และกรมอุทยานฯ มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาการตรวจวัด จัดทำบัญชีคาร์บอน และการประเมินคาร์บอนเครดิตจากป่าธรรมชาติ ทั้งส่วนบนดินและส่วนใต้ดิน ด้วยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล และการประเมินภายใต้มาตรฐานระดับ Tier – 3 เพื่อติดตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าจากพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซากในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จ.ลำพูน
โดยมาตรฐานระดับ Tier 3 เป็นการประเมินการแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยวิธี Eddy Covariance Technique ด้วยการใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศและข้อมูลดาวเทียม ประมวลผลร่วมกับการตรวจวัดภาคพื้นดิน ผ่านการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดแบบถาวรบนหอคอย หรือเรียกว่า Flux-Tower ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนนำมาผ่านการคํานวณด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์เพื่อให้ได้ ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นวิธีที่ ได้มาตรฐาน รวดเร็ว และแม่นยํา
ขณะที่การบริหารจัดการ Carbon Credit จากไฟป่า ที่ตรวจวัดจากอุปกรณ์ Flux-Tower ยังสามารถมอนิเตอร์และสร้างแบบจําลองจุดที่เกิดไฟป่าซํ้าซาก ทำให้สามารถกําหนดมาตรการป้องกันการเกิดไฟป่า พร้อมกับการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการ Carbon Credit จากไฟป่าโดยให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมการแก้ปัญหาไฟป่า ซึ่งจะได้รับประโยชน์จาก Carbon Credit จากป่า ท้ายที่สุดยังส่งผลดีต่อการบรรเทาและลดปัญหาคุณภาพอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
ด้านเป้าหมายของโครงการ คือ แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของภาคป่าไม้ ตลอดจนสามารถสร้างระบบตรวจวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการกักเก็บคาร์บอนที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 8 หน่วยงาน และนำเสนอแนวทางและระบบดังกล่าวต่อองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อให้เกิดการขยายผลให้ครอบคลุมป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ
ที่มา: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช