ข้อสังเกตดูของอาคารที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ส่วนใหญ่นั้นเป็นอาคารเก่า และมักเป็นอาคารที่พักอาศัย
ถามว่า ทำไมอาคารใหม่ๆ ถึงไม่เกิดเหตุไฟไหม้หรือเกิดได้น้อย ก็เพราะอาคารที่สร้างหลังจากปี พ.ศ. 2535 นั้น ถูกควบคุมการสร้างด้วยกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องระบบควบคุมเพลิงไหม้ที่เพียงพอต่อการระงับเหตุเพลิงไหม้
แต่เมื่อย้อนกลับมาดูแล้ว อาคาร ที่พักอาศัยส่วนใหญ่ที่สร้างก่อนการออกกฎหมายควบคุมระบบเพลิงไหม้ ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยเลย ทั้งยังไม่มีอุปกรณ์ควบคุมเพลิงไหม้ หรืออาจมีจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อการระงับเหตุเพลิงไหม้ได้
ถ้าคุณเป็นเจ้าของอาคารเก่า หรือกำลังจะสร้างอาคารใหม่และมีแผนที่จะติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง มาทำความรู้จักกับอุปกรณ์เหล่านี้ขั้นต้น ก่อนตัดสินใจติดตั้งกันดีกว่าครับ
ทำความรู้จักกับ อุปกรณ์ดับเพลิง
หลายคนทราบดีอยู่แล้วว่าอุปกรณ์ดับเพลิงมีทั้งแบบที่ใช้งานโดยคนเป็นผู้สั่งการ (Manual Operate) เช่นถังดับเพลิง สายฉีดน้ำดับเพลิงที่ติดตั้งอยู่ในตู้ดับเพลิง ซึ่งเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้ว ผู้อาศัยหรือเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอาคาร สามารถหยิบมาใช้ควบคุมเพลิงได้ และอีกแบบคือระบบอัตโนมัติ (Automatic Operate) เช่น ระบบกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ (Automatic Sprinkler System) ซึ่งจะทำงานเมื่อสปริงเกอร์ ได้รับความร้อนตามอุณหภูมิที่กำหนดไว้
ซึ่งอุปกรณ์ที่ผมจะพูดถึงนี้จะเป็นแบบอัตโนมัติเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะป็นการแจ้งเตือนเพลิงไหม้อัตโนมัติหรือระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้งานรูปแบบนี้อย่างแพร่หลาย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตซึ่งเราสามารถทราบถึงเหตุการณ์และเตรียมตัวได้ทันเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้
1. ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm System)
อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน (Heat Detector)
ถ้าเรามองอุปกรณ์ตรวจจับ (Detector)ให้เป็นเหมือนการรับรู้ของคนเรา สิ่งแรกที่ผมจะพูดถึงคืออุปกรณ์ตรวจจับความร้อน ซึ่งทำงานเหมือนเป็นการรับรู้ของร่างกายคนเราเมื่อถูกความร้อนจากเปลวไฟ สามารถทำงานได้อย่างแม่นยำ โดยจะติดตั้งไว้ตามห้องต่างๆ
ขณะเกิดเพลิงไหม้ บริเวณโดยรอบนั้นจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น อุปกรณ์นี้จึงมีหน้าที่ตรวจจับความร้อนขณะเกิดเหตุ แบ่งออกเป็น 3 แบบ ด้วยการทำงานแบบตรวจจับอุณหภูมิหลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ
แบบตรวจจับความร้อน ตามอุณหภูมิที่กำหนดไว้ (Fixed Temperature Type)
เครื่องจะทำงานทันทีเมื่ออุณหภูมิโดยรอบสูงถึงค่าอุณหภูมิที่กำหนดไว้ เช่น เมื่ออุณหภูมิโดยรอบมีความร้อนถึง 57 หรือ 90 องศาเซลเซียส อุปกรณ์นี้จะทำงานโดยอัตโนมัติ
แบบความร้อนแปรผัน (Rate of Rise Type)
เข้าใจอย่างง่ายๆ ว่าเมื่ออุณหภูมิโดยรอบ เพื่อขึ้น 8 องศาเซลเซียสในทุกๆ 1 นาที อุปกรณ์นี้จะทำงาน
แบบรวม (Combine Type)
คือการรวมเอาแบบที่ 1 และ 2 เข้าด้วยกัน ซึ่งการทำงานของอุปกรณ์นี้จะมีความแม่นยำมาก
อุปกรณ์ตรวจจับควันไฟ (Smoke Detector)
ถ้าเปรียบเทียบอุปกรณ์นี้กับร่างกายเรา อุปกรณ์นี้จะเหมือนจมูก ที่เมื่อได้รับกลิ่นควันไฟแล้วจะทำงานทันที โดยหลักการทำงานคือ เมื่อเกิดไฟลุกไหม้วัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงในอาคารจะเกิดเป็นควันที่เกิดจากการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะประกอบไปด้วย ความชื้น สารพิษ และสิ่งสกปรก ซึ่งเป็นอันตรายกับดวงตาและระบบหายใจเมื่อสูดดมเข้าไปเป็นจำนวนมาก
ซึ่งการทำงานของเครื่องตรวจจับควันนี้คือการตรวจจับอนุภาคหรือประจุจากการสันดาปไม่สมบูรณ์ เมื่อพบว่ามีประจุกำมะถันของควันไฟเครื่องตรวจจับควันจะส่งสัญญาณไปที่ตู้ควบคุมแจ้งเตือนเพลิงไหม้ (Control Panel) ก่อนจะส่งสัญญาณเตือนไฟไหม้
อุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟ (Flame Detector)
ถ้าเปรียบเทียบอุปกรณ์นี้กับร่างกายคนเรา อุปกรณ์นี้จะเป็นเหมือนดวงตา ซึ่งหลักการทำงานคือ การตรวจจับรังสีอินฟราเรดและรังสีอุลตราไวโลเลตที่เกิดจากเปลวไฟ ซึ่งจะทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำเมื่อเกิดการระเบิดขึ้นของอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้า หรือการลุกไหม้ของไฟที่รวดเร็วและไม่มีควันไฟ
นอกจาก 3 อุปกรณ์ แจ้งเหตุเพลิงไหม้อัตโนมัติที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้แบบใช้มือด้วย ซึ่งมีทั้งแบบกดและแบบดึง โดยเมื่อมีผู้พบเห็นเหตุเพลิงไหม้ก่อน สามารถใช้เพื่อส่งสัญญาณไปที่ตู้ควบคุมเพื่อส่งไปยังอุปกรณ์เตือนภัยได้เลย
2. อุปกรณ์เตือนภัย
หน้าอุปกรณ์เตือนภัย ก็เหมือนการที่เราร้องตะโกนให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารว่ากำลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ เพื่อช่วยให้ผู้ที่อยู่ในอาคารนั้นหนีออกมาให้เร็วที่สุด ซึ่งแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
แบบใช้เสียง
เป็นอุปกรณ์เตือนภัยทั่วไป ที่ติดตั้งตามอาคารต่างๆ จะส่งสัญญาณเตือนเมื่อได้รับการแจ้งเตือนมาจากอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้
แบบใช้แสง
ในอาคารหรือโรงงานที่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่ทำงานอยู่ ทำให้อาจจะไม่ได้ยินเสียงของเครื่องส่งสัญญาณเตือนภัยก็จะใช้อุปกรณ์เตือนภัยแบบแสงแทน
แบบใช้ทั้งเสียงและแสง
เป็นอุปกรณ์ที่รวมทั้งแบบเสียงและเสียงเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำงานพร้อมกันทั้งแสงและเสียง เมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้
3. ระบบดับเพลิงในอาคาร
เมื่ออุปกรณ์ตรวจจับทำงานและส่งสัญญาณไปยังตู้ควบคุม เพื่อส่งสัญญานแจ้งเตือนภัยด้วยเสียงหรือแสงสำหรับอพยพ เมื่อเกิดความร้อนถึงจุดการทำงานของ Sprinkler ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ (Automatic Sprinkler System) จะเริ่มทำงาน
โดยการปล่อยแรงดันน้ำออกมาเพื่อดับเพลิง ผ่านหัวกระจายน้ำดับเพลิง (Sprinkler) บุคคลหรือเจ้าหน้าที่ดูแลอาคารที่สามารถควบคุมเพลิงได้ จะเข้าควบคุมเหตุการณ์เบื้องต้น ซึ่งอุปกรณ์ดับเพลิงในอาคารนั้น จะถูกติดตั้งโดยขึ้นอยู่กับขนาดและความเหมาะสมกับสถานที่ แบ่งออกเป็น 4 ชนิดได้แก่
ถังดับเพลิง (Fire extinguishers)
ถังดับเพลิงเป็นอุปกรณ์ดับเพลิงขึ้นต้น เพื่อใช้ในการดับไฟ ในขณะที่ไฟกำลังลุกไหม้ แต่ยังไม่มีความรุนแรง โดยบุคคลภายในอาคารหรือเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลอาคารสามารถใช้ดับไฟได้เอง ก่อนที่หน่วยดับเพลิงจะมาถึง
ตู้ฉีดน้ำดับเพลิง (Fire hose reels / Fire hose rack)
อุปกรณ์ดับเพลิงขั้นต้นสำหรับดับเพลิงในอาคาร ซึ่งเป็นสายฉีดน้ำที่ต่อกับท่อดับเพลิงเอาไว้ แต่ใช้สำหรับบุคคลที่ผ่านการอบรมการใช้งานอุปกรณ์ดับเพลิงมาแล้วอย่าง นักดับเพลิง เป็นต้น
ท่อน้ำดับเพลิงรอบนอกอาคาร (Fire Hydrant System)
ท่อดับเพลิงรอบนอกอาคาร ที่ขณะเกิดเพลิงไหม้ นักดับเพลิงสามารถดึงน้ำจากท่อนี้ไปใช้ได้ทันที โดยมีลักษณะเป็นท่อตรงรอบอาคาร หรือ ริมถนน และมีหัวจ่ายน้ำ สำหรับต่อเข้ากับสายฉีดน้ำเพื่อดับเพลิง
ระบบกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ (Automatic Sprinkler System)
เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับและมีนิยมสูงสุดในปัจจุบัน เนื่องจาก น้ำเหมาะที่จะใช้ดับเพลิงกับเชื้อเพลิงในหลายประเภท และมีราคาถูกเมื่อเทียบกับระบบดับเพลิงประเภทอื่นๆ การทำงานด้วยระบบอัตโนมัติและสามารถดับเพลิงได้ทันทีเมื่อเกิดเพลิงไหม้
สรุป
แม้ว่าระบบดับเพลิงอาจจะมีความซับซ้อนและต้องลงทุนกับอุปกรณ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่การลงทุนเพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้ที่ไม่ได้คาดคิด ก็จะช่วยให้อุ่นใจทั้งผู้อาศัยและเจ้าของอาคารด้วย
หลังจากที่คุณอ่านบทความมาถึงตรงนี้แล้ว อาจจะยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะออกแบบติดตั้งระบบดับเพลิงในอาคารของคุณอย่างไรดี หรืออยากปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อุปกรณ์ดับเพลิง คุณสามารถคอมเมนต์หรือติดต่อเราเข้ามาที่นี่ได้เลยครับ เราจะดูแลและให้คำปรึกษาคุณอย่างเต็มความสามารถ
ติดตาม Harn Engineering Solutions
เรามีบทความดีๆ และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์